อสังหาฯอีอีซียังคึกคักที่แปดริ้วค่ายเอสซีแอสเสทบุกพื้นที่โรบินสัน ส่วนพฤกษารุกโซนบางประกง จับตาที่ดินระยองกว่า 10 ไร่โซนเซ็นทรัลราคาแตะ 500 ล้านบาท ขณะที่บีทีเอสเปิดทางบิ๊กรับเหมาเสริมทัพโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เปิด 2 แพ็คเกจให้เลือกทั้งร่วมลงทุนและซับคอนแทรค เริ่มเห็นภาพความชัดเจนของการร่วมทุน แข่งประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา โดยเฉพาะการรวมกลุ่มของบริษัทรับเหมาชั้นนำของไทยและการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่จ.ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ว่ามีความตื่นตัวตามกระแสการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกหรือไม่
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชน กรุงเทพ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ยังเปิดกว้างรับบริษัทรับเหมาที่สนใจเข้ามาร่วมทีมกับบีทีเอสเพื่อประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างการเปิดประมูลแม้ว่าจะมีบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอน์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) เป็นหุ้นส่วนร่วมลงทุน อยู่แล้วก็ตามเนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงเปิดกว้างรับบริษัทรับเหมารายอื่นๆ เข้ามา เพิ่มได้อีกหากสนใจร่วมทีมกับบีทีเอส
ด้านแหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์จ.ระยองรายหนึ่งกล่าวว่า ทราบว่าเมื่อ วันที่ 20 ก.ค. 2561 มีคณะของบีทีเอส ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ความเหมาะสมที่จะสามารถพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรอง ในพื้นที่เมืองระยอง พบว่ามีหลายพื้นที่เหมาะสมจะนำไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ นอกจากนั้นยังมีการติดต่อกลุ่มทุนเหมราชพัฒนาที่ดินเพื่อชักชวนเข้ามาร่วมลงทุนในครั้งนี้อีกด้วย
ประการหนึ่งนั้นผู้ประกอบการในพื้นที่ยังไม่เชื่อมั่นอีอีซีว่ามีความแน่นอนหรือไม่ คงต้องรอให้เปิดบริการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ทั้งนี้หากสามารถนำรถเมล์โดยสารทันสมัยรูปแบบสมาร์ทบัสที่บริษัท รีเจียนนอล ทรานซิท โคเปอร์เรชั่น (RTC) ไปให้บริการจะเห็นความชัดเจนเกิดขึ้นตามมาแน่ๆ เนื่องจากจะมีการพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจให้เกิดมูลค่าเพิ่มกับโครงการได้
ด้านนายกำพล เลิศเกียรติดำรงค์ รองประธานหอการค้าจังหวัดฉะเชิงเทรา และเจ้าของโครงการบ้านรุ่งอรุณ กล่าวว่า การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ฉะเชิงเทรา ล่าสุดมีกลุ่มเอสซีแอสเสทรุกในพื้นที่ ย่านศูนย์การค้าโรบินสัน สาขาฉะเชิงเทรา เช่นเดียวกับกลุ่มพฤกษารุกในพื้นที่ โซนบางปะกง ส่วนรายอื่นนั้นยังไม่มี ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า ทุนจีนรุกในพื้นที่ก็ยังไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด
ข้อมูลของสำนักงานที่ดินในพื้นที่ พบว่ามีการปรับเปลี่ยนชื่อบางแปลงเท่านั้น แต่ยังไม่ใช่แปลงใหญ่เป็นร้อยหรือพันไร่ โดยยังคงจับตาพื้นที่ที่จะนำไปก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) และศูนย์ไอซีดีของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ว่ามีความเคลื่อนไหวด้านการจัดซื้อที่ดินหรือการเวนคืนตลอดจนการร่วมลงทุนตามที่รัฐบาลกำหนดว่า จะต้องใช้พื้นที่แปลงใหญ่ คาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนในปลายปีนี้ที่จะมีการยื่น ซองประมูลของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนี้ว่ารายไหนจะได้รับชัยชนะ
สำหรับการปรับเพิ่มราคาที่ดินนั้น ยังมองว่ากรณีนี้เป็นกลไกทางการตลาด หากมีกระแสก็จะมีการปรับเพิ่มบ้าง แต่รูปธรรม ของการพัฒนายังไม่เห็นภาพชัดเจน แม้กระทั่ง ทำเลที่รัฐจะพัฒนารูปแบบสมาร์ทซิตี้ ยังไม่ได้กำหนดชัดเจน นักลงทุนจึงไม่เร่งขับเคลื่อนการลงทุน ซึ่งเป็นไปได้ว่า จะเป็นห่วงเรื่องการปรับเพิ่มราคาที่ดิน เรื่องผังเมืองที่ยังไม่ระบุชัด ทั้งๆ ที่น่าจะ ตอบโจทย์เนื่องจากเป็นพื้นที่สีเขียวกว่า 90% ที่มีข้อจำกัดด้านกฎหมายด้านการพัฒนาจึงมีอุปสรรคด้านการพัฒนาพอสมควร
จากการลงสำรวจพื้นที่ของผู้สื่อข่าว พบว่ากลุ่มทุนที่เข้าไปสำรวจพื้นที่ดินและพัฒนาโครงการไปบ้างแล้ว 3-4 รายจากส่วนกลางโดยแปลงใหญ่โซนแถวบ้านโพธิ์ นอกจากกลุ่มพฤกษา และกลุ่มเอสซีแอสเสท ที่มาตามจังหวะการลงทุน ส่วนอีก 2 ราย ที่ขอยังไม่เปิดเผยชื่อนั้นพบว่าได้มีการซื้อ-ขาย เปลี่ยนมือไปแล้วจำนวน 300 ไร่ โดย โซนแปลงยาว ราคาประมาณ 1 ล้านบาทต่อไร่ ปัจจุบันพบว่าราคาพุ่ง 2-3 ล้านบาท แล้วแต่โลเคชั่นซึ่งปรับมาจาก 2 ปีที่ผ่านมากว่า 30% บางแปลงราคาราว 6 แสนบาท เพิ่มเป็นกว่า 1 ล้านบาท ราคาประเมินห่างกันหลายเท่าตัว ราคาตลาดกับราคาขายจริงยังห่างกันราว 20% ยังคงอ้างอิงแต่ละทำเล ปัจจุบันยังเงียบ ไม่คึกคักตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
1 สิงหาคม 2561