อสังหาฯกระทุ้งรัฐสปีดนำเข้าวัคซีน150ล.โดส ชะลอลงทุนรับมือ ภาวะสุญญากาศ

อสังหาฯกระทุ้งรัฐสปีดนำเข้าวัคซีน150ล.โดส ชะลอลงทุนรับมือ ภาวะสุญญากาศ

          "บิ๊กบอส.เพอร์เฟค" ชี้มาตรการล็อกดาวน์ แก้ปัญหาไม่ถูกจุด แนะ ต้องระดมเร่งรัดนำเข้าวัคซีน 150 ล้านโดสให้ทันภายในก่อนไตรมาส 4 หวังสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้น รอไปถึงกลางปี 65 จะไม่ทัน หลังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่มากขึ้น ด้าน "คอลลิเออร์สฯ" ชำแหละมาตรการรัฐ ยังไม่มีผลเชิงบวกช่วยลดตัวเลขผู้ติดเชื้อ เตือน เอกชนจะไม่ไหวแล้ว อสังหาฯเข้าเกียร์ถอย ชะลอลงทุนโครงการใหม่ ห่วงผู้นำไม่เด็ดขาด อาจนำพาประเทศเสี่ยงเกิด "ภาวะสุญญากาศ" คาดโครงการเปิดใหม่ในพื้นทีกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ยังวังวนอยู่ในแดนลบ ลดลง -25% ถึง -30% มูลค่าเปิดโครงการใหม่ ลดลง -20% ไม่ถึง 1 แสน ลบ.

          แม้รัฐบาลจะพยายามที่จะเร่งรัดและหาวัคซีนเข้าสู่ประเทศไทย เพื่อฉีดให้กับประชาชนภายในประเทศ แต่ความล่าช้าในการนำเข้าและการวางแผนที่คาดเคลื่อน ส่งผลให้ปริมาณวัคซีนขาดช่วงและไม่เพียงพอต่อการฉีดให้กับประชาชน โดยยอดสะสมการฉีดวัคซีน ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-9 ก.ค.64 รวมทั้งสิ้น 12,403,255 โดส ในพื้นที่กรุงเทพฯ มียอดสะสม 4 ล้านโดส ขณะที่ตัวเลขล่าสุดของผู้ติดเชื้อโควิด-19 (11 ก.ค. 64) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 9,539 คน มีผู้เสียชีวิต 86 ราย

          โดยศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ออกมาตรการป้องกันการเกิดคลัสเตอร์ของโควิด-19 หนึ่งในนั้น คือ การปิดแคมป์คนงานก่อสร้างเป็นการชั่วคราว1 เดือน  (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 28 มิ.ย. 64) ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอสังหาฯ มูลค่าควาเสียหายต่อเดือน 70,000-80,000 ล้านบาท

          ล่าสุด ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูง จนเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 4 และ ศบค.ต้องประกาศ "ล็อกดาวน์ 14 วัน" "พื้นที่สีแดงเข้ม" หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด โดยจะมีผลบังคับใช้มาตรการในวันที่ 12 ก.ค.นี้ ขณะที่ยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมออกมาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกอสังหาฯ ชี้ "ล็อกดาวน์"แก้ปัญหาปลายเหตุ ทางรอด สปีดนำเข้าวัคซีน 150 ล. โดสให้ทัน Q4 ชี้สั่ง "ล็อกดาวน์" แก้ปัญหาปลายเหตุ

          นายศานิต อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้  เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) "PF" เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายวัน360" ว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ คือ ต้องแก้ที่วัคซีน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทาง การประกาศล็อกดาวน์เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะฉะนั้น จะแก้ที่ต้นทาง คือ การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้เร็วขึ้น  เพราะจากภาพที่เราเห็น มีประชาชนไปนอนรอ (นอกโรงพยาบาล) เพื่อตรวจหาเชื้อเป็นจำนวนมาก

          ดังนั้น ก็ขอให้มีการตรวจหาเชื้อไวรัสที่ง่ายขึ้น และการตรวที่รวดเร็วขึ้น จะช่วยแยกแยะกลุ่มเสี่ยง (คนป่วย) ออกมาได้ ไม่ใช่มั่วๆ กันอยู่ และเป็นหนทางที่สำคัญกว่า "ล็อกดาวน์" "การล็อกดาวน์ 14 วัน ก็อาจทำให้ อสังหาฯ สะดุด เนื่องจากมีผลต่อการดำเนินวิถีชีวิตประจำวัน แต่สิ่งสำคัญที่ต้องแก้อย่างรวดเร็ว คือ การนำเข้าวัคซีน ซึ่งผม (ศานิต) ได้เคยพูดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาแล้วว่า การนำเข้าวัคซีนหลายยี่ห้อ เป็นทางเลือกที่สำคัญ เพราะเชื้อมีการกลายพันธุ์ด้วย ตอนนี้ เราต้องดูว่า เพิ่มวัคซีน โมเดอร์นา และไฟเซอร์ แล้ว ต้องนำเข้าวัคซีนตัวใหม่เข้ามาด้วย เพื่อป้องกันโควิดกลายพันธุ์ได้ด้วย นั่นคือ รัฐต้องเร่งรัดนำเข้าวัคซีน 150 ล้านโดส เข้ามาภายในสิ้นปี 2564 ให้ได้ แทนที่จะรอกลางปี 65 เพื่อสปีดการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ทันภายในไตรมาส 3 และ 4 นี้ ทั้งนี้ การเร่งรัดฉีดวัคซีน จะทำให้กิจกรรมและแรงงานในภาคการก่อสร้างเดินหน้าได้"

          อนึ่ง เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 64 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุถึงแนวทางในการจัดหาวัคซีนของประเทศไทยนั้นว่า ยังเป็นไปตามกรอบแผนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 จำนวน 150 ล้านโดส ภายในกลางปี 2565 เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึง

          นายศานิต อรรถญาณสกุล กล่าวเสริมถึงภาพรวม เรื่องการปิดแคมป์คนงานก่อสร้างว่า ก็กระทบ งานก่อสร้างหลายโครงการเหมือนกัน ซึ่งขณะนี้ ผู้รับเหมาก่อสร้าง พยายามให้คนงานได้รับวัคซีนอย่างเต็มที่ พยายามดิ้นรนหาซื้อวัคซีน

          นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า มาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลในครั้งนี้ ดูเหมือนจะไม่ล็อกดาวน์อย่างเต็มที่ ไม่ล็อก 100% เพียงแค่ขอความร่วมมือเท่านั้น ซึ่งเรามองมาตรการต่างๆ ที่ ศบค.ออกมาและที่มีการดำเนินการมาก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีผลเชิงบวกต่อการลดจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด หรือ แม้แต่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในเรื่องการทำงานในที่บ้าน (WFH) นั้น เพียงยังขอความร่วมมือ WFH ทำงาน 100% แต่ในความเป็นจริง ภาคเอกชนจะไม่ไหวแล้ว จะเห็นประมาณ 40% เดินทางไปทำงานอยู่

          "ถ้ารัฐบาลยังไม่มีความเข้มแข็ง พอที่จะกล้าประกาศเด็ดขาด ห้ามเลย ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดจะไม่มีผลเชิงบวก ที่จะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง นายกฯควรแสดงความเป็นผู้นำอย่างจริงจัง ความเด็ดขาดหายไปไหน ซึ่งถ้าปล่อยปะละเลย จะยิ่งทำให้ประเทศเกิด สุญญากาศ ถ้ามองในมุมธุรกิจอสังหาฯแล้ว จะไปต่อไม่ได้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ลดเลย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ทางการแพทย์ ตัวเลขผู้ติดเชื้อเกินหมื่นรายอยู่แล้ว ผู้ประกอบการอสังหาฯบางราย ที่เคยประกาศ ต้นปีจะมีโครงการใหม่ แต่ขอรอดูสถานการณ์  ซึ่งรอมาครึ่งปีแล้ว ก็ไม่มีโครงการคอนโดฯ เปิดใหม่เลย  สภาพแบบนี้ คือ สุญญากาศ จริงๆ ทำให้ภาคเอกชนไม่กล้าตัดสินใจลงทุน หรือจะเดินตามแผนธุรกิจที่วางไว้ต่อหรือไม่ หรือเราควรจะทำอย่างไร ในภาวะแบบนี้" นายภัทรชัยกล่าว  คาดปี 64 มูลค่าเปิดโครงการใหม่ ลดลง -20% ไม่ถึง 1 แสน ลบ.

          นายภัทรชัย กล่าวถึงแนวทางดำเนินธุรกิจอสังหาฯ หากในสถานการณ์ที่อาจเกิดภาวะ สุญญากาศ ว่า

         1. ดีเวลลอปเปอร์ ต้องเร่งยอดขายและยอดโอนที่อยู่อาศัยพร้อมโอน (LTM) ที่สามารถทำได้ ทั้งในส่วนของโครงการคอนโดมิเนียมหรือโครงการแนวราบที่ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนให้กับผู้ซื้อ

          2. จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างเต็มที่ให้กับลูกค้า 3. ผู้ประกอบการเลือกเปิดโครงการที่มั่นใจจะสามารถสร้างผลสำเร็จของยอดขายโครงการที่เปิดใหม่ได้ หรือบางราย เมื่อสถานการณ์ดูแนวโน้มไม่มีปัจจัยบวกเข้ามา ก็ต้องเลื่อนเปิดโครงการไปปี 2565 แทน

          สำหรับในปี 64 ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่า ตลาดคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 63 เปิดตัวประมาณ 21,000 หน่วย แต่ในปี 64 คาดจะมีซัปพลายใหม่ออกสู่ตลาดประมาณ 15,000 หน่วย หรือลดลง -25 ถึง 30% ส่วนตลาดโครงการแนวราบ คงมีการเติบโตเพิ่มหรือลบประมาณ 10% ซึ่งปัจจัยสำคัญ คือ เรื่องมาตรการควบคุมโควิด-19 อย่างเด็ดขาด จนทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงได้ภายใน 1-3 เดือน ผู้ประกอบการไปเร่งเปิดโครงการในช่วงที่เหลือของปีนี้ ก็อาจจะทำให้ตัวเลขโครงการใหม่ แนวราบบวกได้ แต่ไม่เกิน 10% เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ตลาดแนวราบไม่ได้ถูกกระทบมากนักจากสถานการณ์ของ โควิด-19

          และเมื่อพิจารณาภาพรวมและปัจจัยลบทั้งหมดแล้ว คาดเปิดตัวโครงการใหม่ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลปีนี้ จะลดลง -15% มูลค่าลดลง -20% หรือมูลค่าประมาณ 80,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 63 มีมูลค่าการเปิดโครงการใหม่ประมาณ 1 แสนล้านบาทต้นๆ สุดท้ายแล้ว ต้องรอดูความเด็ดขาดของรัฐบาล.

 

ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา

วันที่ : 12 กรกฎาคม 2564