NNCL รุกธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ ผุดบ้าน-โรงแรม-ตลาด-หอพัก

NNCL รุกธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ ผุดบ้าน-โรงแรม-ตลาด-หอพัก

          นายสุทธิพร จันทวานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) หรือ NNCL เปิดเผยว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศส่งผลกระทบต่อธุรกิจไม่มากนัก เนื่องจากโรงงานในนิคมทั้ง 2 แห่ง ยังไม่มีโรงงานไหนที่ถูกสั่งหยุดการดำเนินงาน ประกอบกับมีการใช้ระบบสาธารณูปโภค เช่น น้ำและไฟฟ้าในนิคมเพิ่มขึ้น ขณะที่การเจรจาซื้อที่ดินของลูกค้าที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยหนุนให้รายได้ของบริษัทเติบโตได้

          ทั้งนี้ บริษัทได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ โดยจะเน้นธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ (Recurring Income) ให้กับบริษัท เพื่อการเติบโตที่มั่นคงและกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ จึงได้การศึกษาพื้นที่ในการต่อยอด ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ตั้ง 4 บริษัทย่อยเพื่อลงทุนในธุรกิจที่สนับสนุนกิจการในโครงการนิคมอุตสาหกรรมนวนคร นครราชสีมา

          โดยประกอบด้วย 1.บริษัท ๙ เฟรซ มาร์เก็ต จำกัด ประกอบกิจการตลาด, 2.บริษัท ๙ สมาร์ท ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ประกอบกิจการที่อยู่อาศัย และอาคารพาณิชย์, 3.บริษัท ๙ โฮเทล แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ประกอบกิจการโรงแรม ภัตตาคาร และบริการอื่น ๆ และ 4.บริษัท ๙ สมาร์ท เรสซิเดนซ์ จำกัด ประกอบกิจการหอพัก

          อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ซื้อที่ดินขนาด 81 ไร่ 1 งาน 37.2 ตารางวา เป็นที่ดินว่างเปล่าติดกับที่ดินของโครงการนิคมอุตสาหกรรมนวนคร นครราชสีมา เพื่อลงทุนโครงการพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์พาณิชยกรรม ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งมีการสอบถามถึงการจัดหาที่พักอาศัยเพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่พนักงานมายังบริษัทอย่างต่อเนื่อง และคาดจะเริ่มรับรู้รายได้ในช่วง 2-3 ปีจากนี้

          สำหรับการลงทุนในโครงการพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์พาณิชยกรรม เป็นโอกาสทางธุรกิจที่มีทิศทางเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการต่อยอดจากธุรกิจเดิม โดยโครงการนิคมอุตสาหกรรมนวนคร นครราชสีมา มีการขยายตัวมากขึ้น อีกทั้ง คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนแม่บทระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน–นครราชสีมา ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพในทำเลดังกล่าวด้วย

          นายสุทธิพร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีจำนวนโรงงานภายในโครงการนิคมอุตสาหกรรมนวนคร นครราชสีมา ทั้งหมดภายในโครงการ 25 โรงงาน มีจำนวนพนักงานคนไทย จำนวน 11,321 ราย และมีจำนวนพนักงานคนญี่ปุ่น จำนวน 68 ราย ซึ่งพนักงานทั้งหมดยังไม่รวมพนักงานจากบริษัท เอวีเอ็กซ์ (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งประมาณการว่าจะเข้ามาทำงานในพื้นที่เฟสแรก จำนวน 3,000-4,000 ราย และคาดการณ์ว่าถ้าเปิดดำเนินการเต็มประสิทธิภาพจะมีพนักงานจำนวน 10,000 ราย ถือเป็นโอกาสในการขยายการลงทุนอย่างมาก

          ด้านความคืบหน้าของการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น ขนาดประมาณ 30 เมกะวัตต์ เขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร นครราชสีมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างลงพื้นที่เพื่อดำเนินการจัดประชุมประชาพิจารณ์ครั้งที่ 2 อีกทั้งยังอยู่ระหว่างเจรจาสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการจัดเตรียมเครื่องจักร และจัดเตรียมข้อมูลและนำเสนอรายละเอียดโครงการเพื่อขอสนับสนุนสินเชื่อกับสถาบันการเงิน โดยคาดว่าจะสามารถจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ตามแผนในช่วงกลางปี 2566

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น

วันที่ : 1 กรกฎาคม 2564