ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่สร้างผลงานในการประกอบธุรกิจได้อย่างยอดเยี่ยมและสนองแนวทางทำงานของรัฐบาลได้อย่างน่าพอใจ โดยเฉพาะนโยบายของการสร้างโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยมีบ้าน ตามแนวทางของ "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้ขอของขวัญวันเกิดของตนเอง ในการส่งเสริมให้ผู้ที่ยังไม่มีบ้าน มีบ้านเป็นของตัวเองให้ครบทั่วทั้งประเทศโดยรูปแบบอาจสร้างเป็นคอนโดมิเนียมกระจายไปทั่วประเทศ เพราะมีต้นทุนการสร้างถูกกว่าและราคาไม่แพง โดยปูพรมทำเป็นสเกลขนาดใหญ่พร้อมกัน ไม่ใช่เป็นรายโครงการเฉพาะบางพื้นที่เหมือนก่อน เช่นพื้นที่คลองเตย หรือดินแดง ส่วนรูปแบบการลงทุนตอนนี้รัฐบาลแก้กฎหมายในการร่วมทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้แล้ว จึงสามารถดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนที่อยู่อาศัยในกลุ่มสวัสดิการได้ และหากติดขัดอะไรอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือในด้านใดก็ให้บอกมา พร้อมทั้งโชว์ศักยภาพในการบริหารในการดำเนินงานของธนาคารโดยเพียงครึ่งปีแรก "ธอส." สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้แสนกว่าล้านบาท พร้อมยกระดับการให้บริการสู่ Digital Service อย่างเต็มรูปแบบ ตอบโจทย์รัฐบาลยุค 4.0
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก ของปี 2561 ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2561 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนว่า ธนาคารสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ปล่อยสินเชื่อปล่อยใหม่ได้ 105,429 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 53.67%คิดเป็น 85,263 บัญชี โดยเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่วงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง จำนวน 51,482 ราย สะท้อนบทบาท ธอส.
ณ สิ้นไตรมาสที่ 2/2561 ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,070,698 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.62% เมื่อเทียบกับสิ้นปี2560 มีสินทรัพย์รวม 1,137,871 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 7.10% เงินฝากรวม 920,248 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.25% มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 47,208 ล้านบาทคิดเป็น 4.41% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น0.20% จาก ณ สิ้นปี 2560 ซึ่ง NPL อยู่ที่4.21% ของสินเชื่อรวม และมีกำไรสุทธิ6,439 ล้านบาท ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังอยู่ที่ระดับแข็งแกร่งมากที่ 14.53% ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 8.50% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
นายฉัตรชัย กล่าวว่า ตอนนี้ ธอส.มีสภาพคล่องสูงถึง 1 แสนล้านบาท มีเงินฝาก7 แสนล้านบาท ดังนั้น จึงมีความพร้อมรองรับการปล่อยสินเชื่อ ทั้งสินเชื่อโครงการและสินเชื่อลูกค้ารายย่อยที่กู้ซื้อบ้านได้
ทั้งนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายว่าภายในสิ้นปี2561 จำนวนธุรกรรมชำระหนี้เงินกู้ผ่าน Payment Gateway ทั้ง 3 ช่องทาง จะไม่ต่ำกว่า40% ของจำนวนธุรกรรมที่มาชำระเงินกู้ที่เคาน์เตอร์ของธนาคารทั้งหมด พร้อมทั้งยืนยันจะไม่มีนโยบายลดคนและสาขา จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 5,000 คน ใน 220 สาขาซึ่งปีนี้เตรียมเปิดสาขาเพิ่มที่ อ.เบตง จ.ยะลาอีกด้วย
ส่งท้ายกับการที่ "บริษัท Auka" ซึ่งเป็น 1 ใน 100 ผู้ทรงอิทธิพลด้านฟินเทคสัญชาตินอร์เวย์ ซึ่งมีประสบการณ์ด้านการชำระเงินผ่านบนมือถือมาอย่างยาวนาน โดย"แดเนียล โดเดอเลน" ซีอีโอ และ ผู้ก่อตั้งAuka กล่าวว่า จากผลสำรวจของ Auka ในประเทศไทย เชื่อว่าผลจากการที่รัฐบาลเร่งเรื่องนโยบาย Digital Technology จะทำให้ในอีก 2 ปีข้างหน้า การใช้เงินสดในประเทศจะลดลงราว 20% ซึ่งตลาดไทยที่มีการส่งเสริมเรื่องการหารายได้จากการท่องเที่ยว ทำให้มีช่องทางการขยายการให้บริการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวอย่างจีน ที่นิยมการใช้ Digital Service ทำให้ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีโอกาสในเรื่องการขยายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับความต้องการของคนในประเทศ และชาวต่างประเทศที่เข้ามาท่องเที่ยวได้อีกมาก
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
23 กรกฎาคม 2561