อุตฯท่องเที่ยวทรุดยาว โรงแรมขาดสภาพคล่องหนัก AWC ธุรกิจใหญ่ในอาณาจักร "เจ้าสัวเจริญ" ตั้งกองทุนหมื่นล้าน ไล่ช็อปโครงการเข้าพอร์ต เผยมีเจ้าของโรงแรมระดับ 3-5 ดาว มาเสนอขายกว่า 100 แห่ง ทั่วประเทศ บลจ.บัวหลวง เผยกลุ่มทุนไทย-เทศสบช่องลงทุน จับตา "จีน-สิงคโปร์" ดอดเจรจาตั้งกองทรัสต์ช็อปกิจการไทย
นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่ บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การล็อกดาวน์ประเทศ นักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเป็นพอร์ตใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยหยุดการเดินทาง ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโรงแรมซึ่งเป็นเซ็กเตอร์ที่มีมูลค่าการลงทุนและการแข่งขันสูง โดยจะพบว่าในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาแม้ว่ารัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยว ภายในประเทศอย่างหนักจนถึงขณะนี้ ยังพบว่ามีโรงแรมอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ เนื่องจากหลายแห่งถูกวางโพซิชั่นนิ่งไว้รองรับ นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยตรง หลายแห่งมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ขาดเงินทุนหมุนเวียน ขาดเงินทุนสำหรับการจ้างงานใหม่ ฯลฯ
นางวัลลภา กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการโรงแรมจำนวนมาก ไม่สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ และมีจำนวนมากอีกเช่นกันที่เจ้าของอยากขาย บริษัทจึงมองเห็นโอกาสในการเข้าไปลงทุนในธุรกิจโรงแรม โดยล่าสุดบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรซึ่งเป็นกลุ่มที่ลงทุนในบริษัท AWC อยู่แล้ว และสถาบันการเงินเพื่อจัดตั้งกองทุนสำหรับลงทุนในธุรกิจโรงแรม โดยเข้าไปซื้อโรงแรมที่กำลังประสบปัญหาด้านการเงิน เบื้องต้นเรียกว่า opportunity fund ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการกำหนดรายละเอียดการดำเนินงานแนวทางการลงทุน รวมถึงหาที่ปรึกษาด้านการเงิน คาดว่าจะสามารถสรุปรายละเอียดได้ในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า หรือประมาณปลายปีนี้เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้ภายในต้นปีหน้า อย่างไรก็ตาม คาดว่า เบื้องต้นกองทุนนี้จะมีมูลค่าหลักหมื่นล้านบาท
สำหรับคอนเซ็ปต์กองทุนของกลุ่ม AWC ที่เรียกเบื้องต้นว่า opportunity fund เป็นโมเดลคล้ายกันโดย AWC จะเป็นผู้บริหารโดยพิจารณาจากโอกาสผลตอบแทนของการลงทุนโรงแรมไหนอยู่ในตลาดระดับบนและอยู่ในโลเคชั่นที่ดี ตรงกับกลยุทธ์และจับกลุ่มลูกค้า รายได้ระดับกลางถึงสูง รวมถึงสอดรับกับนโยบายกระจายพอร์ตเพื่อบาลานซ์ความเสี่ยงทางธุรกิจ บริษัทก็พร้อมนำมาทรานส์ฟอร์มเข้าพอร์ตและบริหารต่อภายใต้ AWC
โดยมองว่าตลาดในระดับกลางขึ้นไป จนถึงระดับสูงนั้นเป็นตลาดที่กำลังเติบโตอย่างมีศักยภาพและเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ แต่หากโครงการไหนไม่สอดรับกับกลยุทธ์หลักของ AWC อาจส่งต่อให้กับบริษัท ทีซีซี กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทในเครือนำไปบริหาร
นางวัลลภา กล่าวต่อไปอีกว่า ตั้งแต่ประเทศประกาศล็อกดาวน์จนถึงขณะนี้มีเจ้าของโรงแรมตั้งแต่ระดับ 3 ดาวขึ้นไปจนถึงระดับลักเซอรี่ 5 ดาว มูลค่าโครงการตั้งแต่ระดับ 100-10,000 ล้านบาท นำมาเสนอขายโรงแรมให้กับกลุ่ม AWC แล้วจำนวนรวมกว่า 100 จากทั่วประเทศ เป็นโรงแรมในกรุงเทพฯและภูเก็ตมากที่สุด ที่เหลือจะเป็นโรงแรมในเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ โดยในจำนวนกว่า 100 แห่งดังกล่าวนี้พบว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจลงทุนประมาณ 30% ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เจ้าของเป็นคนไทย และมีทั้งแบรนด์โลคอลและแบรนด์ที่เป็นเชนบริหาร
นางวัลลภา กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับ AWC นั้นบริษัทยังคงเดินหน้าตามแผนลงทุนที่วางไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากเชื่อมั่นในศักยภาพของภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยว่าจะเป็นประเทศที่กลับมาได้ก่อนเป็นกลุ่มแรกๆ ของโลก แต่ในระหว่างที่สถานการณ์ยังไม่คืนสู่ปกตินี้บริษัทจะทบทวนและดูจังหวะเวลาในการเปิดโครงการบางส่วนใหม่ เพื่อให้สอดรับกับดีมานด์ในแต่ละช่วงเวลาพร้อมเดินหน้าบริหารจัดการต้นทุนอย่าง เข้มงวดเพื่อประคองให้ธุรกิจเดินหน้าต่อเพื่อรอรับกับสถานการณ์ที่คาดว่าน่าจะพลิกฟี้นดีขึ้นในช่วงตั้งแต่กลางปีหน้าเป็นต้นไป และมั่นใจว่าในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิมแล้ว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ AWC กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ปัจจุบันบริษัทมีโรงแรมเปิดให้บริการแล้ว 18 แห่ง รวม 4,941 ห้อง เป็นโรงแรมที่บริหารโดยเครือแมริออท 73% รองลงมา เป็นเครือฮิลตัน ไอเอชจี และอื่นๆ พร้อมทั้งมีโครงการโรงแรมที่อยู่ระหว่างพัฒนา 10 โครงการ รวม 3,565 ห้อง โครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาตามแผน 5 ปี (2563-2567) ตั้งงบประมาณไว้ที่ประมาณ 50,000 ล้านบาท โดยในปี 2563 นี้ ได้เปิดตัวโรงแรมไปแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ มิเลีย สมุย เรือศิริมหรรณพ เอเชียทีค และล่าสุดได้เปิดให้บริการโรงแรมบันยันทรี กระบี่ มูลค่า 2,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา จากนั้นมีแผนเปิดมีเลียเชียงใหม่ในช่วงปลายปี 2564 และโครงการอินเตอร์ คอนติเนนตัลแม่ปิง ในปี 2565
นอกจากนี้ ยังมีโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่มูลค่าราว 2 หมื่นล้านบาท บนพื้นที่กว่า 40 ไร่ใจกลางเมืองพัทยาที่มีแผนพัฒนาเป็นพื้นที่รีเทลขนาดใหญ่ ภายใต้แบรนด์ "อควอทีค" แลนด์มาร์กใหม่ของเมืองพัทยา และโรงแรมระดับเวิลด์คลาสถึง 4 แบรนด์ รวมประมาณ 1,900 ห้อง อาทิ เจดับบลิว แมริออท, แมริออท มาร์คีส์, ออโตกราฟ คอลเลคชั่น เป็นต้น เพื่อรองรับการพัฒนาของโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC
เบื้องต้นทราบว่า AWC แสดง ความสนใจเข้าซื้อกิจการโรงแรมระดับ 3-5 ดาว ในพื้นที่ที่เป็นจุดหมายของ นักท่องเที่ยวต่างชาติ อาทิ ภูเก็ต พัทยา กระบี่ เชียงใหม่ ฯลฯ หรือเป็นโรงแรมที่ขาดรายได้ เนื่องจากส่วนใหญ่รับแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติ
นอกจากกลุ่ม AWC แล้ว ก่อนหน้านี้ กลุ่มทุนอื่น อาทิ บริษัท เดซติเนชั่น แคปปิตอล พีทีอี จำกัด ได้จัดตั้งกองทรัสต์แบบปิด ร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เพื่อเข้าซื้อกิจการโรงแรมเช่นกัน
นายพีรพงศ์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทุนต่างประเทศ ได้แก่ กลุ่มทุนจากประเทศจีน และสิงคโปร์ ได้แสดงความสนใจจัดตั้งกองทรัสต์ในลักษณะเดียวกัน เพื่อซื้อกิจการโรงแรมในประเทศไทยด้วย โดยมีทั้งผู้ที่สนใจซื้อกองทรัสต์ที่จดทะเบียน อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อทำการเพิกถอนหุ้นและนำไปบริหารเอง รวมถึงสนใจที่จะจัดตั้ง private equity trust แบบเดียวกับกองทรัสต์ของกลุ่มเดซติเนชั่น แคปฯ
สำหรับการจัดตั้งกองทรัสต์แบบ private equity trust จะเป็นการระดมทุนโดยเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนรายใหญ่และนักลงทุนสถาบันเท่านั้น ไม่ได้เปิดให้ผู้ลงทุนรายย่อยทั่วไปเข้ามาลงทุน ในส่วนของกองทุนบัวหลวงในฐานะ ผู้จัดการกองทุน ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาโครงสร้างกองทุน รวมถึงสินทรัพย์ที่เสนอขายให้แก่กลุ่มทุน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ : 29 ตุลาคม 2563