อสังหาฯแห่ซื้อที่แนวรถไฟฟ้าพัฒนา แนวราบ ดันราคาพุ่ง

อสังหาฯแห่ซื้อที่แนวรถไฟฟ้าพัฒนา แนวราบ ดันราคาพุ่ง

          ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯเผย ผู้ประกอบการแห่ซื้อที่ดินแนวรถไฟฟ้าพัฒนาแนวราบ ดันราคาที่ดินเปล่าไตรมาส 2 ปีนี้พุ่ง 30% สวนทางเศรษฐกิจฟุบ กำลังซื้อทรุด ด้านสมาคมอสังหาฯหวั่น ปีหน้าฟุบหนักกว่า แบงก์แบกหนี้เสียขาดสภาพคล่อง เข้มปล่อยกู้ซื้ออสังหาฯ นักพัฒนาอส้งหาฯ แบกสต็อก รอระบายอ่วม

          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาที่ดินเปล่า และราคา ที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขาย ในกรุงเทพฯปริมณฑล พบว่า อัตราการขยายตัวราคาที่ดินมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกครั้ง หลังจากราคาลดลงต่ำที่สุดในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2561 ที่ไม่ขยายตัวโดยราคาที่ดินสูงสุดในช่วงไตรมาส 4 ปี 2561 เพิ่มขึ้นเกินกว่า 30% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

          ล่าสุดในไตรมาส1ปี2563 ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 27.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และไตรมาส 2 ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 30.3%เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือว่าราคาขยับขึ้นกลับไปเท่ากับในปีที่เคยสูงสุดเมื่อ 2 ปีก่อนหน้า

          ขณะที่ภาพรวมราคาคอนโดมิเนียมในช่วงปลายปี 2562 จนถึงต้นปี 2563 มีอัตราเติบโต มากที่สุดในช่วงไตรมาส 1ปี2562ราคาเพิ่มขึ้น 12.2% จากนั้นราคาเริ่มลดลง จนถึงไตรมาส 2 ปี2563 เพิ่มขึ้นเพียง1.3% ขณะที่บ้านแนวราบ ราคาขึ้นลงไม่สูงมากนัก โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 เพิ่มขึ้น 3.4% จากนั้นก็ไต่อยู่ที่ระดับนี้มาตลอด จนล่าสุดไตรมาส 2 ปี 2563 ราคาเพิ่มขึ้น1.8%

          ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาฯยังอธิบายว่า ดัชนีราคาที่ดินเปล่าและที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นที่ดินตามรถไฟฟ้าสายที่กำลังมีการก่อสร้างและขยายบริเวณรอบนอกเมือง และชานเมือง เช่น รถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่มีนักพัฒนาอสังหาฯต่างเร่งเข้าไปซื้อที่ดินเพื่อรอการพัฒนารับโครงการขนส่งมวลชนที่กำลังขยายตัว ในอนาคตจึงทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้น

          นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยถึงทิศทางราคาที่ดินว่า มีอัตราการขยายตัวสูงขึ้น เช่นเดียวกันกับราคาที่พักอาศัย สวนทางกับสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน สะท้อนให้เห็นว่า นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์กลับไม่ได้รับผลบวกจากการผ่อนปรนอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ส.ค.2563 ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ผ่อนปรน อัตราภาษีลง 90% ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาทำให้ต้นทุนการถือครองที่ดินลดลง แต่อัตราการขายที่ดินกลับยังมีราคาสูงขึ้น ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯต้องหาซื้อที่ดินในต้นทุนที่สูง

          ทั้งนี้ สภาพตลาดอสังหาฯไร้สัญญาณบวกเข้ามากระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ เพราะยังไม่เห็นว่าภาครัฐจะออกมาตรการชัดเจนเข้ามาช่วยกระตุ้น ความต้องการอสังหาฯ ส่วนภาคสถาบันการเงินที่เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อพัฒนาโครงการ และปล่อยสินเชื่อซื้อที่อยู่อาศัยกลับยังเปราะบาง

          สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการซ้ำเติมความกังวลของผู้ประกอบการอสังหาฯในปีหน้า จะต้องหาทางรอดประคับประคองธุรกิจกันเอง วางกลยุทธ์อย่างระมัดระวัง ท่ามกลางกำลังซื้อหดตัว ผู้ประกอบการที่แบกสต็อกจำนวนมากจึงค่อนข้างหนัก ต้องเน้นการระบายสต็อกเปิดตัวโครงการใหม่ลดลง โดยเฉพาะผู้ประกอบการอสังหาฯรายเล็ก ขณะที่กลุ่มผู้ซื้อชนชั้นกลางมีรายได้ลดลง สวนทางกันกับราคาที่ดินและราคาขายที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้นตามทิศทางของต้นทุน ทำให้กำลังซื้อไม่เติบโตตามราคาที่ดิน ส่งผลทำโครงการเปิดตัวใหม่อาจจะได้รับผลกระทบ

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

วันที่ : 15 ตุลาคม 2563