MJD เร่งระบายสต๊อกคอนโดฯหมื่นล้าน

MJD เร่งระบายสต๊อกคอนโดฯหมื่นล้าน

          เมเจอร์ดีเวลลอปเม้นท์ฯไม่รีบลงทุนเยอะ ครึ่งปีหลังเปิด 1 โครงการคอนโดฯโลว์ไรส์ เผยตลาดคอนโดฯระดับลักชัวรี่ถูกกระทบจากโควิด-19 ไม่มาก พร้อมจัดราคาพิเศษกระตุ้นยอดขาย "มิวนีค สุขุมวิท 23" คัดห้อง ทำราคาต่ำกว่าตลาดมาอยู่ที่ 2.2 แสนบาทต่อตร.ม. ลูกค้าจีนค้างท่อรอเปิดน่านฟ้า ด้านซีบีอาร์อีชี้ตลาดเริ่มฟื้น อิงดัชนีความเชื่อมั่นดีขึ้น ยอดเยี่ยมชมโครงการเพิ่มเท่าตัว เผยสต๊อกลักชัวรีในเมืองกว่า 12,000 ยูนิต

          ดร.สุริยา พูลวรลักษณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (MJD) เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมระดับลักชัวรี่ว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ประกอบกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี คาดว่าก็ยังคงกระทบกับอีกหลายทุกธุรกิจตลอดปีนี้หรือจนถึงปี 2564 ในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เรามีการวางแผนรัดกุมตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยจะเน้นระบายสินค้าคงค้างที่มีอยู่ก่อนกว่า 10,000 ล้านบาท

          สำหรับแผนการลงทุนใหม่นั้น ดร.สุริยา กล่าวว่า จะมีการเปิดโครงการคอนโดมิเนียม "ไมลส์ รัชดาลาดพร้าว" รูปแบบคอนโดมิเนียมโลว์ไรส์ จำนวน 300 ยูนิต ราคาขาย 80,000-90,000 บาทต่อตารางเมตร หรือต่อยูนิตเริ่มต้นที่ 1.9 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 550 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นโครงการที่ดีไซน์ใหม่รับกับวิถีชีวิตใหม่ ขณะที่ในแต่ละปีตนจะมีการเปิดโครงการใหม่ 1 โครงการ

          ล่าสุดบริษัทได้จัดโปรโมชันในกระตุ้นยอดขายโครงการคอนโดฯลักชัวรีสร้างเสร็จพร้อมโอน ภายใต้ชื่อโครงการ "มิวนีค สุขุมวิท 23" โดยนำมาเสนอราคาขายต่อตร.ม.ที่ 2.2 แสนบาท หรือเริ่มต้น 7.9 ล้านบาทในส่วนของ 1 ห้องนอน ขนาดพื้นที่ 35 ตร.ม. ซึ่งเป็นราคาที่จับต้องได้และเป็นราคาที่ดี และยังสามารถที่จะนำมาปล่อยเช่าให้กับชาวต่างชาติ ซึ่งในโซนสุขุมวิทตอนต้นจะมีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่ ขณะที่ราคาคอนโดฯลักชัวรีทั่วไปจะประมาณ 2.5-3 แสนบาทต่อตร.ม. ปัจจุบันโครงการมียอดขายไปแล้ว 70 % และคาดว่าจนถึงปลายปียอดขายจะเพิ่มเป็น 80% จากมูลค่าโครงการทั้งหมด 2,800 ล้านบาท

          นางสาวอลิวัสสา พัฒนาถาบุตร กรรมการผู้จัดการบริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ว่า มีหลายอย่างที่บ่งชี้ว่าตลาดอสังหาฯเริ่มกลับมาฟื้นตัวหลังจากเกิดโควิด-19 ว่า อย่างแรกดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เริ่มเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ และเข้าสู่จุดต่ำสุดในเดือนเมษายนลดลงมาอยู่ที่ 47.2% และตัวเลขในเดือนกรกฎาคมเพิ่มมาอยู่ที่ 50.1%

          ขณะที่ข้อมูลภายในของซีบี อาร์อี จะพบว่า จำนวนคนเข้าเยี่ยมชมโครงการที่ซีบีฯบริหารอยู่ เริ่มขยับขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จนถึงกรกฎาคม ซึ่งสามารถวัดความต้องการซื้อในตลาดได้ โดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นกว่า 1,000 ราย สาเหตุอาจจะเกิดจากผู้บริโภคต้องการมองหาที่อยู่ในเมืองและนอกเมือง ไว้สำหรับรองรับเป็นบ้านหลังที่สอง เพื่อรองรับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอีก โดยเราพบว่าตัวเลขการซื้อบ้านหลังที่สองเพิ่มเป็น 25% ในไตรมาส 2 ปีนี้ แต่ซื้อเพื่อการลงทุนและเก็งกำไรลดลงมาเหลือ 16% จากปี 2562 อยู่ที่ 34% โดยตัวเลข ซึ่งจะชี้ให้เห็นว่า ตัวเลขที่นำมาเสนอกำลังบอกว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังกลับมาฟื้นตัว

          ในส่วนของสินค้าปีนี้แทบจะไม่มีการเปิดโครงการใหม่ โดยในรอบ 6 เดือนแรกปี 63 ในพื้นที่กรุงเทพฯเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62 ลดลง 84%

          สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและเหลือขายอยู่ในตลาดในทุกทำเลในเมือง จะเห็นว่าการขายเฉลี่ยในทุกทำเลประมาณ 60% ทำให้เหลือยูนิตในตลาดประมาณ 12,000 ยูนิต และหากแยกเป็นทำเลแล้วยอดขายของโครงการที่สร้างเสร็จเฉลี่ยอยู่ที่ 92.8% หรือมีซัปพลายเหลือประมาณ 4,000 ยูนิต

 

ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา

วันที่ : 21 สิงหาคม 2563