ศูนย์ข้อมูลฯแนะ ผู้ประกอบการชะลอเปิดโครงการใหม่หันระบายสินค้าเก่า หวั่นเพิ่มสต๊อกตลาด เผยไตรมาส 1/2563 ยอดโอนกรรมสิทธิ์ฯ 77,500 หน่วยลดลง 11% มูลค่า 1.8 แสนล้านบาท ลด 8.5%
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ หลังจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในไตรมาส 1 ปี 2563 ตัวเลขการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย มีจำนวน 77,500 หน่วย ลดลง 11% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2562 ที่มี 86,855 หน่วย
โดยมีมูลค่าโอน 180,000 ล้านบาท ลดลง 8.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2562 ที่มีมูลค่า 197,648 ล้านบาท ตัวเลขดังกล่าวถือว่าปรับลดลงไม่มากนักเมื่อเทียบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส ส่วนหนึ่ง มากจากเป็นยอดแบ็กล็อกของผู้ประกอบการที่มีอยู่เดิมแล้ว รวมถึงในช่วงไตรมาสแรกการควบคุมของรัฐบาลยังไม่เข้มงวดและยังไม่ได้ออกประกาศพระราชกำหนดการ บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
อย่างไรก็ตามคาดว่าในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 ตัวเลขการโอนกรรมสิทธิ์จะปรับลดลงไปใกล้เคียงกับปี 2560 คือโอนกรรมสิทธิ์ ไม่เกิน 70,000 หน่วย และคาดว่าสถานการณ์ ของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จบลงภายในไตรมาส 2 ปี 2563 ซึ่งจะทำให้ในช่วงไตรมาส 3 ทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ จะปรับตัวดีขึ้น และในไตรมาส 4 จะปรับตัว ขึ้นกว่าไตรมาส 3 พร้อมคาดหวังว่ารัฐบาลจะมีมาตรการออกมากระตุ้นกำลังซื้อเพราะภาคอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นกลไกลที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ดี การกระตุ้นให้เกิดการซื้อ การโอนก็จะช่วยผู้ประกอบการได้
ดร.วิชัย กล่าวต่อว่า ในภาวะที่ตลาดชะลอตัวขอแนะนำให้ผู้ประกอบการเน้นการระบายสินสต๊อกสินค้าเก่า ด้วยการปรับปรุงหรือเพิ่มฟังก์ชันต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าและกระตุ้นกำลังซื้อ ส่วนการลงทุนใหม่ควรมีความระมัดระวัง และแนะนำให้ชะลอการเปิดตัว ไม่ว่าจะเป็นโครงการแนวสูงและแนวราบ แม้ว่าโครงการแนวราบจะเป็นเรียล ดีมานด์ แต่เนื่องจากสต๊อกเหลือขายในตลาดเป็นจำนวนมากจึงควรเพิ่มระมัดระวัง
ส่วนข้อมูลจากการสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ พบตัวเลขยอดขายได้ใหม่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ขายได้ 54,000 หน่วยลดลงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 30% และยังพบว่า มีการปรับตัวลดลงของอัตราการดูดซับเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยลดลงเหลือ 2.54% จาก 4.11% ในปีก่อน ภาวะเช่นนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์ด้านการขายอสังหาริมทรัพย์ด้านที่อยู่อาศัยครึ่งหลังของปี 2562 มีการชะลอตัวที่ชัดเจน หลังจากที่มีการใช้มาตรการ Macroprudential ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 ก็มีภาวะที่ชะลอตัวเช่นกัน ส่งผลให้สถาบันการเงินมีการเข้มงวดการพิจารณาการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น
ภาพการชะลอตัวของตลาดอสังหา- ริมทรัพย์เริ่มชัดเจนมาตั้งแต่ครึ่งหลัง 2562 และเมื่อไตรมาส 1 ปี 2563 สถานการณ์รุนแรงมากขึ้นจากการระบาดของไวรัส COVID-19
ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา
วันที่ : 7 เมษายน 2563