สายสีส้ม ดันที่พุ่งวาละ 6 แสน พระราม 9-รามคำแหง-ลำสาลี คอนโดฯล้น จับตา สถานีมีนบุรี ทำเลบลูโอเชี่ยน

สายสีส้ม ดันที่พุ่งวาละ 6 แสน พระราม 9-รามคำแหง-ลำสาลี คอนโดฯล้น จับตา สถานีมีนบุรี ทำเลบลูโอเชี่ยน

          รถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 23 กม. ที่จะเชื่อมการเดินทางใจกลางเมืองไปยังโซนตะวันออกของกรุงเทพฯ โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำลังเร่งงานก่อสร้างให้เสร็จตามแผน

          ปัจจุบันแม้ว่ารถไฟฟ้าสายนี้จะสร้างเสร็จเปิดให้บริการในปี 2567 แต่ก็เป็นรถไฟฟ้าอีกหนึ่งสายที่ภาคเอกชนทั้งค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์รอคอยและถมการลงทุนไปรอล่วงหน้าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่คึกคักมากสุด คือ สถานีที่เป็นจุดเชื่อมต่อ ได้แก่ สถานีศูนย์วัฒนธรรม จะเชื่อมสายสีน้ำเงิน สถานีลำสาลีเชื่อมกับสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และสถานีมีนบุรีเชื่อมกับสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ขณะที่ในเส้นทาง มีทั้งโครงการเก่าและการลงทุนใหม่กระจายไปตามศักยภาพของทำเลแห่ยึดศูนย์วัฒนธรรมฯ-พระราม 9

          รอบสถานีศูนย์วัฒนธรรม ยังมีที่ดินแปลงใหญ่อีกหลายแปลงรอพัฒนา เช่น ที่ดินของ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค 2 แปลง ฝั่งห้างบิ๊กซีและติดกับปั๊มน้ำมัน ที่ดิน นพ.พงษ์ศักดิ์ และที่ดินของกลุ่มแหลมทองค้าสัตว์ อยู่เยื้องกับศูนย์การค้าเอสพลานาด ส่วนทางด้านถนนเทียมร่วมมิตร เยื้องกับศูนย์วัฒนธรรมจะมีที่ดินของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี และที่ดินของ อสมท ตรงข้ามกับศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า

          โดยการพัฒนาคอนโดฯจะไปเห็นที่ "สถานีมีนบุรี" เป็นสถานีปลายทางของสายสีส้ม และเป็นจุดเชื่อมกับสายสีชมพู ซึ่งสถานีอยู่บริเวณแยกร่มเกล้า มีจุดจอดแล้วจร และศูนย์ซ่อมบำรุงอยู่ในบริเวณนี้ และมีไทวัสดุ บิ๊กซี SCG

          ปัจจุบันมี "ดิ ออริจิ้น ราม 209 อินเตอร์ เชนจ์" จากค่ายออริจิ้น เข้าไปปักธงอยู่ หนึ่งเดียวย่านนี้ เยื้องกับไทวัสดุ บนพื้นที่ 4 ไร่ สูง 31 ชั้น รวม 1,007 ยูนิต เริ่มต้น 1.29 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท กำลังเปิดขายและก่อสร้าง เสร็จในปี 2564

          "พีระพงศ์ จรูญเอก" ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การที่เข้าไปพัฒนาคอนโดฯที่มีนบุรี เพราะมองว่าต่อไปจะเป็นทำเลบลูโอเชี่ยน เป็นจุดตัดของสายสีชมพูกับสีส้มและยังไม่มีคู่แข่ง เนื่องจากย่านนี้ไม่มีคอนโดฯเลย ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการแนวราบ แต่เราเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการหาคอนโดฯ อยู่อาศัยเอง

          นายพีระพงศ์กล่าวอีกว่า หากวิเคราะห์ทำเลรามคำแหง ซึ่งเป็นถนนที่ยาวมาก ค่อนข้างจะมีการแข่งขันดุเดือด ตลอดเส้นทางจะแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ 1.ย่านพระราม 9-ลำสาลี 2.ลำสาลี-วงแหวน และ 3.วงแหวน-มีนบุรี

          ด้านนายชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค กล่าวเพิ่มเติมว่า ทำเลสายสีส้ม ถือว่าเป็นทำเลที่มีศักยภาพในอนาคต เพราะจะเป็นรถไฟฟ้าสายหลักที่วิ่งจากโซนตะวันออกของกรุงเทพฯ ยิงตรงเข้าสู่ใจกลางเมืองที่สถานีศูนย์วัฒนธรรม โดยต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินไปยังในเมืองได้ และในอนาคตจะมีการสร้างต่อไปยังฝั่งธนบุรีถึงบางขุนนนท์

          นายชายนิดกล่าวว่า สำหรับเพอร์เฟคมีเปิดขายโครงการเพอร์เฟคเพลส ยังมีที่ดินพัฒนาอีก 40 ไร่ เป็นแนวราบ ซึ่งคอนโดฯในทำเลนี้ค่อนข้างน้อย เนื่องจากยังไม่มีรถไฟฟ้าเปิดให้บริการ ถ้ารถไฟฟ้าเปิดบริการเชื่อว่าน่าจะเห็นการพัฒนาตึกสูงมากขึ้น

          ปัจจุบันยังมีที่ดินแปลงใหญ่ที่ยังเหลือพัฒนาในโซนนี้ ส่วนใหญ่เป็นแลนด์ลอร์ดเก่า เช่น ที่ดินของโชคชัยปัญจทรัพย์ ประมาณ 300 ไร่ ติดกับโรงเรียนร่วมฤดี และธารารมณ์ ประมาณ 100 ไร่ ที่เหลือเป็นแปลงเล็ก ๆ ส่วนรายใหม่ยังไม่มี ขณะที่การซื้อขายที่ดินยังไม่มีความเคลื่อนไหวมากนักในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

          นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บจ.ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ กล่าวว่า หลังสายสีส้มมีความก้าวหน้าของงานก่อสร้าง ทำให้พื้นที่ตามแนวเส้นทางเปลี่ยนแปลงพอสมควรในแง่การเปิดขายคอนโดฯใหม่ในรัศมีรอบสถานีตั้งแต่ศูนย์วัฒนธรรมฯ-ลำสาลี และมีนบุรีสถานีปลายทางจะคึกคัก บางพื้นที่ เมื่อ 3-4 ปีก่อนมีเปิดขายช่วงต้น ถนนรามคำแหง ก็ได้รับการตอบรับ ระดับหนึ่ง และในปี 2560 มีผู้ประกอบการเข้าไปซื้อที่ดินขึ้นโครงการกันมากขึ้น เพราะมีความมั่นใจหลังรถไฟฟ้าเริ่มสร้าง ในปี 2561 มีคอนโดฯเปิดขายมากกว่า 5,225 ยูนิต มากที่สุดในช่วง 20 ปี โดยอยู่บนถนนรามคำแหงและเสรีไทย โดยเฉพาะ รอบสถานีหัวหมากที่มีเปิดขายมากถึง 4,791 ยูนิต หรือกว่า 92%

          ส่วนที่ดินมีหลายแปลงเปลี่ยนมือทำให้ราคาขายสูงขึ้น ซึ่งราคาที่ดินแนวสาย สีส้ม มีตั้งแต่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อ ตารางวาขึ้นไปถึง 1 ล้านบาทต่อตารางวา ในพื้นที่รอบสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ แต่ช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา อาจจะปรับเพิ่มขึ้น ไม่มากนัก แต่ที่ดินที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนเดิม เช่น ตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือรอบสนามราชมงคลากีฬาสถาน แยกลำสาลีที่เป็นสถานีร่วมกับสายเหลือง สถานีมีนบุรีที่เป็นสถานีร่วมกับสายชมพู มีการซื้อขายและพัฒนาเป็นคอนโดฯต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

6 มกราคม 2563