เชียงใหม่ 2020 รับมือโลกเปลี่ยน 3 บิ๊ก "ปรเมธี-อมรเทพ- พรนริศ" ชี้สงครามการค้า-ค่าบาท เป็นอุปสรรคและความท้าทาย รัฐต้องโหมลงทุน ปลุกจีดีพีปีหน้า ลุยดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม นอกอีอีซี อสังหาฯจากติดลบเป็นบวกแล้ว
ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในหัวข้อ "รับมือเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่" ว่า อยากฝากถึงรัฐบาล 3 ข้อ คือ 1.ภาครัฐต้องเป็นผู้นำการลงทุน เพื่อสร้างโอกาสและสร้างสมดุลให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน 2.ต้องเดินหน้าผลักดันเรื่องดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น พร้อมรองรับการปรับตัวของตลาดแรงงาน 3.ทุกคนต้องรับผิดชอบกับสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้ทุกภาคธุรกิจปรับตัวไปด้วยกัน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโต 2.5-2.6% ต่ำกว่าปี 2561อยู่ที่ 4% เป็นผลจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ทำให้ผลผลิตในซัพพลายเชนเดือดร้อน ส่วนปี 2563 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยยังชะลอตัว แต่คงดีกว่าปีนี้เล็กน้อย จากมาตรการต่างๆที่ออกมากระตุ้น แม้สงครามการค้ายังมีความเสี่ยง แต่จะลดความรุนแรงลง เพราะประธานาธิบดีสหรัฐเลื่อนการใช้ภาษีสินค้าจีนออกไป และจะมีการเลือกตั้งอเมริกา ซึ่งการมีมาตรการแรงกับจีนอาจได้ฐานเสียง แต่ถ้ามากไปจะโดนจีนตอบโต้ ส่วนข้อตกลงเรื่องการถอนสหราชอาณาจักรออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) คงเดินหน้าต่อมีเวลา 1 ปี ถ้าเงื่อนไขไม่สำเร็จคงออกจากอียูโดยไม่มีเงื่อนไข
ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่าตั้งแต่ปี 2560 เหตุจากเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบให้การส่งออกลำบาก ซึ่ง ธปท.เข้าไปดูแล แต่ปีหน้าค่าเงินยังแข็งค่าแต่ไม่แรงเท่าปีนี้ เนื่องจาก ธปท.พยายามผ่อนปรนกฎระเบียบ การนำเข้าเงินดอลลาร์มาแลกเงินบาท แต่ไม่สามารถทำให้อ่อนได้มาก
จึงอยากฝากเป็นข้อเสนอถึงภาครัฐ ควรมีการลงทุนใหม่ช่วง 4-5 ปี โดยเฉพาะด้านดิจิทัลพัฒนาเมืองพื้นที่นอกอีอีซี เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น มีการดีไซน์การเดินทางที่ดี อำนวยความสะดวกการปรับปรุงเมือง เพราะเมืองที่พัฒนาดีจะสร้างรายได้ให้ธุรกิจ
กระทรวงแรงงานต้องมีนโยบายใหญ่เป็นแพ็กเกจให้คนมั่นใจผ่านการเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำงานอื่นมากกว่าการหวาดหวั่น ที่ทำให้คนใช้จ่ายลดลง เราต้องทรานส์ฟอร์มรับการเปลี่ยนแปลงได้ พร้อมให้ความสนใจเรื่องธรรมาภิบาล
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย บรรยายพิเศษเรื่อง Thailand 2020 Economic Outlook กล่าวว่า ทิศทางของค่าเงินบาทมองว่าไตรมาส 1/2563 โอกาสจะอยู่ที่ระดับ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และมีความเป็นไปได้ที่ปลายปี 2563 จะแข็งค่าไปอยู่ในระดับ 29.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เรียกได้ว่าค่าเงินบาทแข็งเทียบเท่ากับปี 2540 แต่เมื่อเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าถือว่าแข็งค่ามาก ฉะนั้นต้องจับตามอง ส่วนในภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจะรู้สึกว่ากำลังซื้อของตัวเองลดลง แต่เทรนด์ในปีหน้าน่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น และการลงทุนจากรัฐบาลจะช่วยทำให้เกิดการหมุนเงินสู่เศรษฐกิจในภูมิภาคมากขึ้น
ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2020 (2563) มีโอกาสจะเติบโตอย่างชะลอตัว โดยสงครามการค้าจะยังมีต่อเนื่องแต่คงไม่รุนแรง กลายเป็นว่าเศรษฐกิจโลกส่งผลซึมเข้ามาเศรษฐกิจในประเทศ ภาคการผลิตของอุตสาหกรรมหรือนอกภาคเกษตรอย่างโรงงานเริ่มลดวัตถุดิบและลดกำลังการผลิต ชั่วโมงการทำงานของแรงงานถูกตัด ส่วนภาคเกษตรยังสามารถประคับประคองไปได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่แข็ง แต่คาดว่าปีหน้าจะเติบโตอยู่ที่ 2.7%
ขณะเดียวกันสงครามการค้ายังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาขึ้นภาษีจีน เพื่อพยายามกดจีนที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เร็วมาก รวมถึงการส่งออกของไทยไปจีนและสหรัฐที่จะได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งจีนก็เริ่มขยายอิทธิพลเข้ามายังภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น
ในภาพของเศรษฐกิจโลกเติบโตช้าแต่ไม่ใช่วิกฤต อเมริกาหนุนแรงงานใช้ค่าจ้างขับเคลื่อนผู้บริโภค ยุโรป มองว่าหนี้สาธารณะค่อนข้างสูง ส่วนจีน ปรับตัวกระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาล และสามารถเติบโตได้ สำหรับในประเทศไทย กลุ่มสินค้าอาหารเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว สามารถเติบโตได้ แต่อุตสาหกรรมเรื่องรถยนต์ เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์กำลังซื้อไม่โตมาก เพราะเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นของภาคประชาชน การซื้อขายออนไลน์เติบโตได้ดี แต่ขายตามตลาดก็ใช่ว่าไปไม่ได้ ผู้ประกอบการต้องตามเทรนด์และปรับตัว เพราะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เป็นโอกาสทางธุรกิจ
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ในงานสัมมนาประชาชาติธุรกิจ "เชียงใหม่ 2020 เปลี่ยน ก่อนถูกเปลี่ยน" ในหัวข้อ "Real Estate 2020 Outlook" ว่า ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์วิเคราะห์ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยปี 2563 คาดว่าจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปลายปี 2562 แต่จะขยายตัวไม่มากนัก ไม่เกิน 5% โดยจะมีการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ต่อเนื่องจากช่วงปลายปี เพื่อรองรับมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนใกล้เคียงกับยอดการเปิดตัวในปี 2562
ด้านความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ผลจากปัจจัยสำคัญ คือ อัตราดอกเบี้ยขาลงและมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ส่งผลให้อุปทานในตลาดจะถูกทยอยดูดซับ อย่างไรก็ตามในปี 2563 ผู้ประกอบการยังคงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารสินค้าที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จรอการขาย และ stock เพื่อให้อุปทานไม่ค้างอยู่ stock มากเกินไป ซึ่งภาพรวมทั่วประเทศครึ่งแรกปี 2563 คาดว่าจะมีที่อยู่อาศัยเหลือขายประมาณ 245,371 หน่วย
ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้ประมาณการจำนวนหน่วยเหลือขายที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ณ สิ้นปี 2563 จะมีจำนวน 139,000 หน่วย ลดลงร้อยละ 6.7 จากปี 2562 ที่มีจำนวน 149,000 หน่วย เนื่องจากผลจากมาตรการกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยการลดค่าธรรมเนียมโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองเหลือร้อยละ 0.01 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 จนถึงสิ้นปี 2563 จะทำให้มีการเร่งโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยที่สร้างใหม่ ซึ่งจะช่วยให้อุปทานเหลือขายสะสมในตลาดถูกดูดซับออกไปจนสามารถปรับสมดุลของอุปทานเหลือขายให้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ที่ 138,720 หน่วยได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
16 ธันวาคม 2562