ซื้อที่ดินอย่างบ้าคลั่ง อนันดา เจ้าตลาดคอนโดติดรถไฟฟ้า

ซื้อที่ดินอย่างบ้าคลั่ง อนันดา เจ้าตลาดคอนโดติดรถไฟฟ้า

ไตรมาส 1/62 ค่ายอนันดาดีเวลลอปเม้นท์ กวาดยอดรายได้ ถล่มทลาย ที่สำคัญ รักษาสถานะเจ้าตลาดคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้าได้อย่างเหนียวแน่น  โดยผลประกอบการมีกำไรสุทธิ 232 ล้านบาท เติบโต 61% จากไตรมาส 1/61 เป็นผลมาจากกำไรที่แข็งแกร่งจากโครงการร่วมทุนเบ็ดเสร็จมียอดโอนของโครงการทั้งหมด จำนวน 5,631 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 39% และเพิ่มมากขึ้น 47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

รวมทั้งยอดขายอยู่ที่ 4,815 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 19% ตัวเลขหนุนหลังในด้านยอดขายรอรับรู้รายได้ หรือแบ็กล็อก-backlog อยู่ที่ 37,000 ล้านบาท รองรับการเติบโตของยอดโอนในระยะ 3 ปีหน้า

ก่อนหน้านี้ "โก้-ชานนท์ เรืองกฤตยา" ซูเปอร์บอสของอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ เพิ่งเปิดเวทีฉายภาพองค์กรผ่านร้อน ผ่านหนาวจนครบรอบ 20 ปีแห่งการ ก่อตั้ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ภายใต้ ธีมแผนธุรกิจ "Built to Last"ธุรกิจร่วมทุนกับพันธมิตรสุดแข็งแกร่งจากญี่ปุ่นอย่าง "มิตซุย ฟุโดซัง" เปิดดีล JV-joint venture เป็นบริษัทแรกเมื่อปี 2556 ล่าสุด ณ ปี 2561 ร่วมทุนแล้ว 26

โครงการคอนโดมิเนียม 4 เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ มูลค่าร่วมทุน 128,000 ล้านบาท ปี 2562 วางแผนเปิดดีลร่วมทุนเพิ่มอีก 8 โครงการใหม่ ผลักดันให้มูลค่าร่วมทุนขยับขึ้นเป็น 157,600 ล้านบาท ควบคู่กับการหารือถึงอนาคตร่วมทุนในระยะ 20 ปีหน้า แต่เริ่มทำตั้งแต่วันนี้ เกมเชนจ์ของอนันดาฯต้องมองไปที่การเพิ่มพอร์ตรายได้ในส่วนของรีเคอริ่ง อินคัม หรือรายได้จากค่าเช่า จากเดิม ที่มีแต่รายได้พอร์ตโอนกรรมสิทธิ์

ปลายทางของเป้ารายได้รีเคอริ่งปักหมุดไว้ที่ปี 2565 ต้องการรายได้ 1,700 ล้านบาท โดยเริ่มก่อสร้างเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์โครงการแรก เมื่อปี 2560

นั่นหมายความว่าภายใน 5 ปีหน้า อนันดาฯจะมีเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ อย่างน้อย 5 โครงการ ประกอบด้วย แอสค็อต ทองหล่อ, แอสค็อต เอมบาสซี สาทร, ซอมเมอร์เซ็ต พระราม 9, แอลวายเอฟ สุขุมวิท 8 กับ 1 โครงการในพัทยา

แผนธุรกิจปี 2562 ตั้งเป้าเปิดตัวใหม่ 10 โครงการ แบ่งเป็น คอนโดฯ ร่วมทุน 7 โครงการ มูลค่ารวม 38,000 ล้านบาท  เป้ายอดขายหรือยอดพรีเซล ต้องการเติบโต 14% อยู่ที่ 36,000 ล้านบาท จากคอนโดฯ 89% แนวราบอีก 11% และตั้งเป้ายอดรับรู้รายได้ หรือยอดโอน 36,000 ล้านบาท เติบโต 9% สัดส่วน มาจากคอนโดฯ 90% แนวราบ 10%

บริษัทมีสถิติสามารถปิดการขายคอนโดฯ สัดส่วนสูงถึง 90% ภายใน 3 ปีหลังเปิดตัว ในด้านแบ็กล็อก ณ สิ้นปี 2561 มียอดสะสม 41,000 ล้านบาท ทยอยโอน 3 ปี (2562-2564) ในด้านแบรนด์ ยอดโอนปี 2561 ประสบความสำเร็จจากห้องชุดแบรนด์ไอดีโอ 5 โครงการ, แบรนด์แอชตัน 3 โครงการ และแบรนด์ยูนิโอ 1 โครงการ

จุดโฟกัสอยู่ที่ทฤษฎี "ระฆังคว่ำ" โมเดลธุรกิจพัฒนาโครงการคอนโดฯที่กลายเป็นโลโก้ของ "โก้-ชานนท์" ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แนวคิดคือปักหมุดทำเลสถานีรถไฟฟ้าเป็นตัวตั้ง จากนั้นกางรัศมีระยะห่างจากสถานีรถไฟฟ้าเป็นตัวกำหนดแบรนด์ โดยสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคนรุ่นใหม่ผ่าน 2 แบรนด์หลัก ประกอบด้วย "IDEO" แบรนด์คอนโดฯที่มีระยะห่างสถานีรถไฟฟ้าไม่เกิน 300 เมตร ราคาเฉลี่ย 1-1.5 แสนบาท/ตารางเมตร กับแบรนด์ "ELIO" แบรนด์รองลงมา มีระยะห่างจากสถานีรถไฟฟ้า 300-600 เมตร ราคา 8 หมื่น-1 แสนบาท/ตารางเมตร

ถ้ารัศมีเลย 600 เมตร เป็นทำเลของโครงการแนวราบเป็นหลัก 20 ปีที่แล้ว อนันดาฯเริ่มต้นโครงการแรกบนทำเลรถไฟฟ้าสุขุมวิทไลน์หรือ BTS ยุคนั้นมีเพียง 41 สถานีเท่านั้น

          ณ ปี 2561 สถานีรถไฟฟ้าเปิดบริการ เป็น 87 สาขา เพิ่มเท่าตัว เป็นตัวหนุนหลัง ให้อนันดาฯเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง หมุดหมายแผนลงทุนมองไปถึงปี 2572 กรุงเทพฯ-ปริมณฑลจะเปิดบริการ 316 สถานีรถไฟฟ้า

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

27 พฤษภาคม 2562