ลด ค่าโอนบ้าน ราคาต่ำล้าน เอกชนชี้ ไร้ผล ประคองตลาด

ลด ค่าโอนบ้าน ราคาต่ำล้าน เอกชนชี้ ไร้ผล ประคองตลาด

 "อธิป"ชี้มาตรการลด ค่าธรรมเนียมโอนบ้าน-คอนโด ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท หนุนเฉพาะโครงการบ้านล้านหลังซัพพลายไม่มากเท่าตลาดหลักบ้านราคา 2-5 ล้าน หวั่นมาตรการไม่พอประคองสถานการณ์ อสังหาฯ เหตุแบงก์เข้มสินเชื่อ "คอลลิเออร์ส" เผย2เดือนบ้านราคาถูก ยอดปฏิเสธสินเชื่อสูงกว่า 50%

นายอธิป พีชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติมาตรการลดภาระค่าธรรมเนียม การจดทะเบียนสิทธิและ นิติกรรม อสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นที่ดิน พร้อมอาคาร หรืออาคารที่อยู่อาศัยประเภท บ้านเดี่ยว บ้านแฝด และบ้านแถว สำหรับ ผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ราคาซื้อขายไม่เกิน 1 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 1 ล้านบาท

                โดยกำหนดให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาฯและค่าจดทะเบียนการจำนอง อสังหาฯ 0.01% จากเดิม 2% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ รวมถึงให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนห้องชุดและค่าจดทะเบียนการจำนองห้องชุด 0.01% จากเดิม 1% ของมูลค่าที่ จำนอง ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถึงวันที่ 31 พ.ค.2563 นั้น

ส่วนตัวประเมินว่า มาตรการดังกล่าวไม่ได้ช่วยกระตุ้นภาพรวมของตลาดอสังหาฯ  แต่จะให้ประโยชน์เฉพาะบ้านที่ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งเท่าที่ประเมินรัฐต้องการช่วยสนับสนุนการมีที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านล้านหลัง รวมทั้งผู้ประกอบการที่ทำบ้านต่ำกว่า 1 ล้านบาท ที่มีอยู่ 2-3 ราย สะท้อนว่าการกระตุ้นอสังหาฯอยู่ในขอบเขตจำกัด ทั้งๆ ที่ สัดส่วนตลาดที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท มีจำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่จะเป็นคอนโดชานเมืองของการเคหะแห่งชาติ ขณะที่ตลาดส่วนใหญ่ของอสังหาฯอยู่ที่ระดับราคา 2-5 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สำหรับรัฐบาลใหม่ที่เข้ามา บริหารประเทศ เรื่องแรกที่รัฐบาลใหม่ต้องทำ คือทำให้การเมืองนิ่งและมีเสถียรภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจของคนกลับคืนมา มิเช่นนั้นเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงอีก ถัดมาต้องทำให้ คนเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายจากปัจจุบันการเข้าถึงสินเชื่อยาก มีการปฏิเสธสินเชื่อในอัตราสูงถึงกว่า 30% และยังต้องมาเผชิญกับมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (แอลทีวี) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้คนกู้ยากขึ้นไปอีกเรื่อยๆ ตรงนี้ต้องไปทบทวนดูว่า จะทำให้อย่างไรให้มาตรการแอลทีวีผ่อนคลายลง จะเลื่อนออกไป หรือผ่อนเกณฑ์บางอย่าง

ทั้งนี้ข้อมูลจากแผนกวิจัย คอลลิเออร์ส ประเทศไทย พบว่า ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2562 อุปทานที่อยู่ระหว่างการขายที่อยู่ อาศัยระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาทในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ทั้งหมดอยู่ที่ ประมาณ 20,757 ยูนิต ด้วยมูลค่าการลงทุน 40,972 ล้านบาท จำแนกเป็นคอนโด ประมาณ 20,039 ยูนิต มูลค่าการลงทุนประมาณ 39,982 ล้านบาท หรือคิดเป็น 97% ของอุปทานที่อยู่ระหว่างการขาย ที่อยู่อาศัยระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาทในเขตกรุงเทพฯและและปริมณฑล ทั้งหมด

จำแนกเป็นบ้านจัดสรรประมาณ 718 ยูนิตหรือเพียงแค่ 3% เท่านั้น ด้วยมูลค่า การลงทุนประมาณ 990 ล้านบาท จากข้อมูล ยังพบว่า อุปทานที่อยู่ระหว่างการขายทั้งหมด 20,757  ยูนิต ขายไปแล้วประมาณ 12,905 ยูนิต หรือคิดเป็น 62.2% ของอุปทาน ที่อยู่ระห่างการขายทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าประมาณ 25,473 ล้านบาท และยังมีหน่วยเหลือขายอีกประมาณ 7,852 ยูนิต หรือคิดเป็น 37.8% ด้วยมูลค่าประมาณ 15,499 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังพบว่า ในช่วง 2 เดือนแรก ของปีที่ผ่านมา มีการปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์สูงกว่า 50% โดยเฉพาะในกลุ่มของบ้านราคาถูก แนวโน้มยอดปฏิเสธ สินเชื่ออาจเพิ่มขึ้นภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

14 พฤษภาคม 2562