3 สมาคมวงการอสังหาฯ ตั้งแท่นข้อเสนอรัฐบาลใหม่ โฟกัสนโยบายบ้านผู้มีรายได้น้อย ขยายบทบาท “มอร์ตเกจฟันด์” เข้ามาค้ำประกันส่วนต่างสินเชื่อที่แบงก์ไม่ปล่อยกู้ สร้างโอกาสซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้มากขึ้น เสนอรื้อเกณฑ์บ้านบีโอไอ แนวราบปรับราคาสูงขึ้นจาก 1.2 ล้าน เป็น 1.8 ล้าน คอนโดฯหดไซซ์เริ่มต้นจาก 28 ตร.ม. เหลือ 25 ตร.ม. ดันราคาขึ้นจาก 1 ล้าน เป็น 1.2 ล้าน “นายกคอนโดฯ” เล่นแรง เสนอเก็บภาษีลูกค้าต่างชาติซื้ออสังหาฯเมืองไทย 5-30% เลียนแบบสิงคโปร์ นำรายได้โปะกองทุนบ้านคนจน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับถอยหลังไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 24 มีนาคม 2562 จากการสำรวจข้อคิดเห็น 3 สมาคมวงการพัฒนาที่ดินเกี่ยวกับนโยบายที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย มองว่า รัฐบาลใหม่ควรมีมาตรการสนับสนุนเพื่อจูงใจเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น
ทั้งนี้ ทุกรัฐบาลมีนโยบายสร้างบ้านผู้มีรายได้น้อยมาตลอด โดยหนึ่งในข้อเสนอคือการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้มีรายได้น้อย ล่าสุดได้มีมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนที่อยู่อาศัยแห่งชาติ วงเงินประเดิม 500 ล้านบาท โดยมีการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เป็นผู้รับผิดชอบในอนาคต กองทุนนี้ควรขยายบทบาทและวงเงินให้กว้างขวางขึ้น โดยเข้าไปสนับสนุนการซื้อที่อยู่อาศัยราคาบ้านผู้มีรายได้น้อยโครงการของเอกชน
ส่วนรูปแบบการใช้เงินกองทุน ที่ผ่านมามีปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของผู้มีรายได้น้อย โดยสถาบันการเงินหรือแบงก์ปฏิเสธสินเชื่อ หรือให้วงเงินจำกัด เช่น บ้านราคา 1 ล้านบาท ปกติแบงก์ปล่อย 95% จำนวน 9.5 แสนบาท ผู้ซื้อวางเงินดาวน์ 5 หมื่นบาท แต่แบงก์อาจปล่อยเพียง 8 แสนบาท ทำให้มีส่วนต่างอยู่ 1.5 แสนบาท
โดยโมเดลบ้านประชารัฐในปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงกลุ่มเป้าหมายของบ้านประชารัฐไม่ใช่ประชาชน แต่เป็นกลุ่มข้าราชการหรือคนของรัฐ เวลาเกษียณแล้วก็ต้องออกจากบ้านเช่า ในขณะที่บ้านของประชาชนทั่วไปต้องการความมั่นคง เมื่อทำงานจนเกษียณแล้วก็ยังมีบ้านอยู่อาศัย ไม่ใช่ตอนไล่ที่ตอนเกษียณ ที่สำคัญสามารถเก็บเป็นมรดกให้ลูกหลานได้ด้วย
ในกรณีของนโยบายบ้านผู้มีรายได้น้อย มีข้อเสนอแนะรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ 2 เรื่อง 1.การลงทุนบ้านผู้มีรายได้น้อยโดยหน่วยงานรัฐ ในทางปฏิบัติมีการนำงบประมาณแผ่นดินมาอุดหนุน จึงเสนอให้ทบทวนเรื่องภาษีซื้อคอนโดฯของลูกค้าต่างชาติ ซึ่งเป็นโมเดลการเก็บภาษีในต่างประเทศทั่วโลก 2.ออกมาตรการช่วยลดภาระต้นทุนพัฒนาโครงการบ้านผู้มีรายได้น้อยให้กับผู้ประกอบการ ได้แก่ ค่าโอน 2% ค่าภาษีธุรกิจ 3.3% และค่าจดจำนอง 1% ซึ่งปัจจุบันการโอนที่อยู่อาศัยใช้อัตราเดียวกับอาคารพาณิชย์ สำนักงาน โรงงาน ที่ดินเปล่า
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
21 มีนาคม 2562