ขยายรถไฟฟ้าสายสีแดง1.6หมื่นล้าน บูมทำเล’มธ.รังสิต-ศาลายา’

ขยายรถไฟฟ้าสายสีแดง1.6หมื่นล้าน บูมทำเล’มธ.รังสิต-ศาลายา’

ไฟเขียวขยายรถไฟฟ้าสีแดง 1.6 หมื่นล้าน เชื่อมนครปฐม-ปทุมธานี ยึด “ตลิ่งชัน-ศาลายา” และ “รังสิต-มธ.” เพิ่ม 4 สถานี “พระราม 6-บางกรวย-ฉิมพลี-ม.กรุงเทพ” ตอกเข็ม ส.ค. เปิดหวูดปี’65 ตลิ่งชัน-ศิริราช เคาะ 5 มี.ค.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองส่วนต่อขยายสายสีแดง 2 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 16,772.58 ล้านบาท แยกเป็น สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท มี 4 สถานี สถานีคลองหนึ่ง สถานีเชียงรากน้อย สถานีมหาวิทยาลัยกรุงเทพที่สร้างเพิ่มใหม่ และสถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 10,202.18 ล้านบาท โดยเงินลงทุนดังกล่าวรวมงานก่อสร้างสถานีอีก 3 สถานี ได้แก่ 1.สถานีพระราม 6 บริเวณเชิงสะพานพระราม 6 2.สถานีบางกรวย-การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ บริเวณเชิงสะพานพระราม 7 ของเส้นทางช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่สร้างเสร็จไปเมื่อปี 2555 จากเดิมมี 3 สถานี คือ สถานีบางซ่อน สถานีบางบำหรุ และสถานีตลิ่งชัน และ 3.สถานีบ้านฉิมพลี ของช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ที่สร้างเพิ่ม 1 สถานี เป็น 4 สถานี ได้แก่ สถานีฉิมพลี สถานีกาญจนาภิเษก สถานีศาลาธรรมสพน์ และสถานีศาลายา จะทำให้การเดินทางครอบคลุมทุกพื้นที่มากขึ้น

ขั้นตอนต่อจากนี้ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะดำเนินการเปิดประมูลก่อสร้าง โดยประกวดราคาแบบ e-Bidding ภายใน 1-2 เดือนจะออกประกาศทีโออาร์ คาดว่าจะได้ผู้รับเหมาและเริ่มก่อสร้างได้ในเดือน ส.ค. 2562 ใช้เวลาสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการในปี 2565 ในปีแรกจะมีผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 75,720 เที่ยวคนต่อวัน แยกเป็นช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ 28,150 เที่ยวคนต่อวัน และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 47,570 เที่ยวคนต่อวัน

สำหรับสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 6,645.03 ล้านบาท คาดว่าจะเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติวันที่ 5 มี.ค.นี้ เนื่องจากมีการปรับวงเงินลงทุนใหม่ โดยตัดการก่อสร้างโรงซ่อมหัวรถจักรทดแทนโรงรถจักรธนบุรีเดิม วงเงิน 824.4 ล้านบาท ออกจากโครงการ ทำให้เงินลงทุนของสายสีแดงช่วงนี้เหลืออยู่ที่ 5,821 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดประมูลก่อสร้างภายในปีนี้และสร้างเสร็จในปี 2565 มีผู้โดยสารอยู่ที่ 55,200 เที่ยวคนต่อวัน

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

1 มีนาคม 2562