ปั้นพอร์ตซิตี้2พันไร่ พลิกโฉม”คลองเตย”แลนด์มาร์กใหม่

ปั้นพอร์ตซิตี้2พันไร่ พลิกโฉม”คลองเตย”แลนด์มาร์กใหม่

รัฐพลิกโฉมท่าเรือคลองเตย 2,353 ไร่ สู่ “พอร์ตซิตี้” ลงทุนบิ๊กโปรเจ็กต์มิกซ์ยูสแสนล้าน ผุดที่อยู่อาศัย สำนักงาน ศูนย์การค้า ดิวตี้ฟรี ท่าเรือครุยส์ โมโนเรลเชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดิน เปิดประมูล PPP ดึงเอกชนร่วมลงทุน 30 ปี ปั้นแลนด์มาร์กใหม่ เทียบชั้นไอคอนสยาม ปีนี้นำร่อง 17 ไร่ มูลค่า 5.4 พันล้าน เร่งย้ายชุมชน 12,000 ครอบครัวขึ้นตึกใหม่ ผุดคอนโดฯ 25 ชั้น 4 ตึกรองรับ ประเดิมตึกแรกพันล้าน ตอกเข็มปี 64

ศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้า 54 ไร่ ประกอบด้วย อาคารคลังสินค้าแนวสูงและแนวราบ สถานีพักรถบรรทุกสินค้า รวมถึงมีอาคารสำนักงาน 126 ไร่ (ไม่รวมตลาดคลองเตย) อยู่ในทำเลศักยภาพพัฒนากิจกรรมที่มีความหลากหลาย และสนับสนุนกิจการของท่าเรือและชุมชนโดยรอบ อาทิ ศูนย์กลางการค้าและพาณิชยกรรมนำเข้า-ส่งออก อาคารพาณิชย์ อพาร์ตเมนต์ สำนักงาน ศูนย์ฝึกอบรมธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ สถาบันการเงิน และศูนย์การประชุม

 “โซน 2” พัฒนาธุรกิจหลัก การให้บริการท่าเรือกรุงเทพ (core business zone) โดยปรับพื้นที่จากปัจจุบัน 943 ไร่ เหลือ 534 ไร่ พัฒนาสถานีบรรจุสินค้าเพื่อส่งออกและบูรณาการพื้นที่หลังท่าเป็นคลังสินค้าขาเข้าเขตปลอดภาษี พื้นที่ปฏิบัติการสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าต่าง ๆ

ยังมีท่าเทียบเรือตู้สินค้าบริเวณเขื่อนตะวันตกติดคลองพระโขนง จะพัฒนาเป็นท่าเทียบเรือแห่งใหม่ ลานกองเก็บตู้สินค้าและอาคารสำนักงาน ปรับปรุงท่าเทียบเรือตู้สินค้าฝั่งตะวันออกให้ทันสมัยรองรับเรือลำเลียงชายฝั่ง และมีโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือและทางด่วนสายบางนา-อาจณรงค์ เป็นการระบายรถบรรทุกขาออกที่มุ่งหน้าไปยังบางนา-ตราด และขาเข้ามายังท่าเรือกรุงเทพและ “โซน 3” พื้นที่พัฒนาเมืองท่าเรือกรุงเทพ (Bangkok modern city) อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เน้นการพัฒนาเมืองธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นแลนด์มาร์กของประเทศ ศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวใหม่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวทางน้ำ และเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์สาธารณะ รวมถึงพัฒนาอาคารมิกซ์ยูสครบวงจร มีช็อปปิ้งมอลล์ ที่จอดรถ และโรงแรม

ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นที่ดินผืนใหญ่มากถึง 2,300 ไร่ ในการเปิดประมูลสัมปทานเช่ายาว 30 ปี ต้องคำนึงด้วยว่าเมื่อพัฒนาโครงการออกมาแล้วซัพพลายจะล้นหรือไม่ ในขณะที่สิ่งที่เมืองกรุงเทพฯต้องการคือ พื้นที่สีเขียวอีกจำนวนมาก ถ้าเป็นไปได้ก็อยากเห็นมีการกันพื้นที่สีเขียวในโครงการครึ่งหนึ่ง หรืออย่างน้อย 300-400 ไร่

องค์ประกอบอื่นเป็นเรื่องการออกแบบภาพรวม จุดเน้นเป็นเรื่องพับลิกเฮาซิ่ง ควรออกแบบให้รองรับการอยู่อาศัยของลูกค้าทุกเซ็กเมนต์ ตั้งแต่ราคาต่ำล้าน/ยูนิตซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมและชุมชนใกล้เคียงไปจนถึงตลาดกลางราคา 2-3 ล้านบาท, 4-5 ล้านบาท และตลาดไฮเอนด์ก็ให้แบ่งโซนทำในจุดไพรมแอเรียของโครงการ

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

15 มกราคม 2562