อสังหาฯแจง ไฮสปีดเทรน ดันคอนโด-พื้นที่เชิงพาณิชย์ รอบสถานีคึก โดยเฉพาะสถานีมักกะสัน-บางซื่อ สถานีศรีราชา เหตุชุมทางเชื่อม กรุงเทพฯ-อีอีซี "คอลลิเออร์สฯ"เผย ทุนใหญ่แห่สะสมแลนด์แบงก์ ดันราคาที่ดิน 9 สถานีพุ่งเฉลี่ย 20-40% ขณะมูลค่าที่อยู่อาศัย อยู่ระหว่างการขาย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ณ ไตรมาส 3 ปีนี้ พุ่งแตะ 4.5 แสนล้าน
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 226 กิโลเมตร (กม.) ประกอบด้วย สถานีรถไฟความเร็วสูง 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานี มักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานี ฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา กลายเป็น "โอกาสทอง"ของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ในขณะนี้เห็นความเคลื่อนไหว คึกคัก เช่นเดียวกับราคาที่ดินรอบสถานีที่พุ่งขึ้น
ทั้งนี้ ประเมินว่าไฮสปีดเทรนจากดอนเมืองถึงสุวรรณภูมิ ซึ่งมี 9 สถานี สถานีที่จะได้รับอานิสงส์ เช่น สถานีบางซื่อ เพราะเป็นสถานีใหญ่ เชื่อมต่อการเดินทางไปยังส่วนต่างๆ และจะมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบสถานีด้วย
ขณะที่การเชื่อมต่อไปยังสนามบินอู่ตะเภา มองว่าโอกาสขยายเมืองเหมือนกับประเทศญี่ปุ่นมีสนามบินนาริตะ อยู่ไกลจากตัวเมือง เมื่อเทียบกับสนามบินฮาเนดะ เดินทางเข้าโตเกียวไม่นานนัก แต่การคมนาคมขนส่งที่เชื่อมต่อสนามบินนาริตะทำให้เกิดเมืองโดยรอบสถานี ดังนั้น ในไทยพื้นที่โดยรอบหรือขอบจังหวัดที่เชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา จะได้รับอานิสงส์ เช่น ชายขอบจังหวัดระยอง ฉะเชิงเทรา เป็นต้น
ส่วนทำเลถนนเส้น 322 หรือ เลี่ยงเมืองสัตหีบ จากเดิมซื้อไร่ละประมาณ 5 แสนบาท ปรับขึ้นเป็นไร่ละ 3-4 ล้านบาท ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายใหญ่ เดินหน้าลงทุนเพื่อรองรับการพัฒนา เช่น บิ๊กซีเตรียมจะเปิดสาขาใหม่บริเวณตลาด 700 ไร่ อ.สัตหีบ เช่นเดียวกับกลุ่ม ปตท.มีการสำรวจที่เพื่อเตรียมลงทุนสร้างสถานีบริการน้ำมันขนาดใหญ่บนถนน 331
สำหรับที่ดินใจกลางเมืองศรีราชา บริเวณห้างโรบินสัน ศรีราชา ปัจจุบันขึ้นเป็น 3 แสนบาท/ตารางวา หรือ 120 ล้านบาท/ไร่ เนื่องจากเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของคนญี่ปุ่นที่ทำงานในนิคมฯภาคตะวันออก ถัดจากใจกลางศรีราชา ที่ดินติดถนน สุขุมวิทมีราคา 80-100 ล้านบาท/ไร่ ไม่ติดถนนอยู่ที่ 15-20 ล้านบาท/ไร่ บริเวณลาดกระบัง ใกล้สุวรรณภูมิและแอร์พอร์ตลิงก์ นักลงทุนต้องการที่ดินจำนวนมาก แต่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับผังเมืองโดยโซนตะวันออกและหัวสนามบิน ปัจจุบันไร่ละ 10 ล้านบาท ถนนกิ่งแก้ว บางพลี อ่อนนุช ไร่ละ 20 ล้านบาท เป็นต้น
สำหรับโอกาสของธุรกิจอสังหาฯ รอบสถานีต่างๆ ย่อมส่งผลให้พื้นที่รอบๆสถานีต่างๆที่จะเกิดขึ้น ทั้ง 9 สถานีมีการขยายตัว และเกิดการพัฒนาการใช้พื้นที่ในบริเวณโดยรอบเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสถานีใหญ่ๆ เช่น บริเวณสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์มักกะสันบนพื้นที่ประมาณ 150 ไร่ และสถานีบางซื่อมีพื้นที่กว่า 400 ไร่ มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 300,000 ตารางเมตร ที่จะกลายเป็นฮับที่สำคัญ เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงกรุงเทพฯ กับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (อีอีซี) เกิดการพัฒนาขึ้น ทั้งในส่วนของธุรกิจคอมเมอร์เชี่ยลและธุรกิจ ที่อยู่อาศัย รวมถึงพื้นที่โดยรอบสถานีศรีราชา ประมาณ 25 ไร่ ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อรองรับรับการขยายตัวที่จะเกิดขึ้น
สำหรับที่ดินโดยรอบของแต่ละสถานีย่อมเป็นที่หมายตาของเหล่าผู้ประกอบการทั้งผู้ประกอบการในส่วนของตลาดที่อยู่อาศัยและอื่นๆ ซึ่งทราบกันดีกว่าโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่เชื่อมต่อ 3 ท่าอากาศยานในเขตกรุงเทพฯ และ อีอีซี ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของธุรกิจ นิคมอุตสาหกรรม
สำหรับอสังหาฯในพื้นที่ อีอีซี ครอบคลุม พื้นที่ 3 จังหวัด ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา กำลังเป็นที่ให้ความสนใจเป็นอย่างมากสำหรับผู้ประกอบการในภาคอสังหาฯหลายรายต่างพากันสะสมแลนด์แบงก์ไว้เพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย เช่น บมจ. พฤกษา เรียลเอสเตท บมจ. ศุภาลัย บมจ. ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ บมจ. เสนา ดีเวลลอปเมนท์ บมจ.เอสซี แอสเสท บมจ. ควอลิตี้ เฮ้าส์ เป็นต้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
12 พฤศจิกายน 2561