"เชียงของ" เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ถูกรวมอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จ.เชียงราย และกำลังถูกผลักดันให้เป็นเขตเศรษฐกิจข้ามพรมแดนเพื่อเป็นประตูการค้าชายแดนเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (เส้นทาง R3A) และยังเชื่อมต่อเข้ากับจีนตอนใต้ตามแนวเส้นทาง One Belt One Road ของจีน
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ลงพื้นที่ร่วมประชุมโต๊ะกลมรับฟังความเห็นเรื่องแนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดน โดยได้ให้ทางสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงช่วยศึกษาในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดนว่ามีพื้นที่ใดบ้างที่มีศักยภาพ โดยเบื้องต้นมองว่า พื้นที่เชียงของ จ.เชียงราย มีศักยภาพและความพร้อมในด้านสาธารณูปโภคในการนำร่องทำเขตเศรษฐกิจร่วมระหว่างบ่อเต็น ของ สปป.ลาวและบ่อหานของจีน
ขณะเดียวกัน ก็จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมควรจะมีสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง เพราะต่อไปจะไม่ใช่แค่การลดภาษีนำเข้าระหว่างกันเท่านั้น
ทั้งนี้ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดนเชียงของ-บ่อเต็น-บ่อหาน เป็น 1 ใน 4 เรื่องที่กระทรวงพาณิชย์ได้รับเงินจากกองทุนกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจแม่โขง-ล้านช้าง วงเงิน 50 ล้านบาท เพื่อดำเนินการในการอำนวยความสะดวกทางค้าระหว่างกัน โดยมีการตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันในสมาชิก 6 ประเทศ (ซีแอลเอ็มวี ไทย และจีน) ให้ได้ 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ 2.2 แสนล้านดอลลาร์ ภายในปี 2563
สำหรับ 4 เรื่อง ที่กระทรวงพาณิชย์ได้รับมอบหมายให้ดูแล ได้แก่ 1.การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วม 2.การผลักดันธุรกิจการค้าอี-คอมเมิร์ซ 3.การจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างประเทศสมาชิก และ 4.การอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก
กลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนอยากให้มีการผลักดันใน 4 เรื่อง คือ การพัฒนาเชียงของให้เป็นเมืองชายแดน (Border Town) โดยการพัฒนาระบบขนส่งโลจิสติกส์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วม 3 ประเทศ และการพัฒนาการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่มีแนวโน้ม ขยายตัวมากขึ้นในอนาคต
ด้าน วัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า เชียงของเป็นพื้นที่มีศักยภาพและความพร้อมที่จะผลักดันให้เกิดการนำร่องพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วม ซึ่งการพัฒนาร่วมกันจะเป็นสร้างประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ แล้วมาแข่งขันกันเองเหมือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี จากการศึกษาพบว่า พื้นที่ภาคเหนือของไทยมีศักยภาพในการพัฒนาสู่การเป็น "สิงคโปร์ทางบก" ในการเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนกับจีน โดยใช้ประโยชน์จากเส้นทางสาย R3A ในการเป็นเส้นทางการค้า การลงทุน ท่องเที่ยวและการขนส่งโลจิสติกส์จากไทย สปป.ลาว เข้าสู่มณฑลทางตอนใต้ของจีน เช่น คุนหมิง และเฉิงตูผ่านด่านข้ามแดนบ่อหาน
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
8 พฤศจิกายน 2561