อสังหาฯภูเก็ตยังโต พบคอนโดอยู่ระหว่างการขายมากสุดกว่า 1.5 หมื่นยูนิต มูลค่าลงทุน 6.5 หมื่นล้าน คิดเป็น 67% อุปทานรวมที่อยู่ระหว่างการขายภาคใต้ สวนทางกำลังซื้อชะลอ ขณะทุนภาคกลางปักหมุดภาคใต้ ปรับแผนเร่งระบายสต็อก ชะลอเปิดโครงการใหม่
นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทคอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด เผยถึงตลาดคอนโดมิเนียมในภาคใต้ ณ ไตรมาส 3 ปี 2561 พบว่า มีอุปทานที่อยู่ระหว่างการขายทั้งหมดประมาณ 22,729 ยูนิต รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 89,810 ล้านบาท ขายไปแล้ว 17,724 ยูนิต หรือประมาณ 78% เหลือขาย 5,005 ยูนิต หรือคิดเป็น 23% ของอุปทานทั้งหมดที่อยู่ระหว่างการขาย
โดยพบว่า ภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีคอนโดที่อยู่ระหว่างการขายมากที่สุดในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ของไทยอยู่ที่ประมาณ 15,291 ยูนิตหรือรวมมูลค่าการลงทุนกว่า 65,000 ล้านบาท ซึ่งมากถึง 67% ของอุปทานรวมที่อยู่ระหว่างการขายทั้งหมดของคอนโดในภาคใต้ของไทย รองลงมาคือสงขลาและสุราษฎร์ธานี
แม้ว่าภาพรวมของคอนโดในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ ณ ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 จะอยู่ในช่วงชะลอตัวโดยส่วนใหญ่ ยกเว้นจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากภาพรวมของเศรษฐกิจในภาคใต้ยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร เนื่องจากปัจจัยหลักของรายได้ประชากรส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับราคาสินค้าในภาคเกษตร โดยเฉพาะยางพารา และปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนในพื้นที่น้อยลง เนื่องจากผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นการซื้อเพื่อการอยู่อาศัย
โดยกลุ่มนักเก็งกำไรค่อนข้างน้อย ที่ประมาณ 5-10% เพราะผู้บริโภคที่จะมาซื้อต่อมีไม่มากและมีโอกาสทำกำไรจากส่วนต่างราคาน้อย มีบ้างเป็นการซื้อเพื่อการปล่อยเช่าแต่ถือว่า ยังน้อย ซึ่งต่างจากกรุงเทพฯและจังหวัดตามหัวเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายราย ไม่ว่าจะเป็น บมจ. แสนสิริ บ.หาดใหญ่นครินทร์ ในเครือบริษัท ศุภาลัยจำกัด (มหาชน) รวมถึง บมจ. ซีพี แลนด์ ก็มีการสนใจเข้าไปพัฒนาโครงการคอนโด ในภาคใต้เช่นเดียวกัน เช่น บมจ. ซีพี แลนด์ ที่เข้าไปพัฒนาโครงการคอนโด ทั้งในจ.นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และตรัง บมจ.แสนสิริ สนใจเข้าไปพัฒนาทั้งในจ.สงขลาในพื้นที่อ.หาดใหญ่ จ.สุราษฎร์ธานี และจ.ภูเก็ต
ส่วน บริษัทหาดใหญ่นครินทร์ ในเครือ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ก็สนใจพัฒนาโครงการคอนโดแล้ว ถึง 3 โครงการในจังหวัดสงขลา และบริษัท ศุภาลัยจำกัด (มหาชน) เองก็พัฒนาโครงการคอนโดแล้วกว่า 4 โครงการในจังหวัดภูเก็ต
ถึงแม้ว่าภาพรวมของตลาด คอนโดในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ส่วนใหญ่ จะยังอยู่ในช่วงชะลอตัว เนื่องจากกำลังซื้อมีไม่นักเมื่อเทียบกับหัวเมืองใหญ่ๆ อื่นๆ แต่พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ทราบถึงปัญหาเหล่านี้เป็นอย่างดี มีการปรับตัวเน้นระบายสต็อก ที่ยังคงค้างในตลาด และชะลอการเปิดตัว โครงการใหม่ เพื่อระบายสินค้าคงค้างออกเพื่อให้ตลาดกลับสู่ภาวะสมดุล
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
7 พฤศจิกายน 2561