แหวกด่านดันใช้ก.ม.ที่ดินฯ ฉีกคำครหาเกรงใจเอกชน

แหวกด่านดันใช้ก.ม.ที่ดินฯ ฉีกคำครหาเกรงใจเอกชน

ทำท่าจอดไม่ต้องแจวไปแล้ว แต่อยู่ๆกระทรวงการคลังก็ฮึดช่วงโค้งสุดท้าย ดันร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ฝ่าด่านอรหันต์ในชั้นคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯจนสำเร็จ หากไม่พลิกโผขั้นสุดท้ายเท่ากับว่าประเทศไทยจะได้ฤกษ์ใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯฉบับใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 63 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ดีกว่าจะผ่านมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเนื้อในของกฎหมายได้เข้ามาปฏิวัติวิธีการจัดเก็บภาษีแบบเดิมๆ อย่างสิ้นเชิง ซึ่งวิธีนี้มีช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตได้ง่าย แต่กฎหมายใหม่จะยกเลิกภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ทั้งหมด และให้ อปท.ไปคำนวณเก็บภาษีตามประเภทการใช้ประโยชน์ของที่ดินซึ่งแบ่งเป็น 4 ประเภท ที่ดินเพื่ออยู่อาศัย ที่ดินเพื่อการเกษตร ที่ดินเพื่อเชิงพาณิชย์ และที่ดินรกร้างว่างเปล่า กับราคาและขนาดของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กรมธนารักษ์ประเมินไว้แทน

กฎหมายฉบับนี้จึงเข้ามาช่วยปิดช่องโหว่การทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะมีมาตรฐานการคิดภาษีแบบตรงไปตรงมา ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของการทุจริตเรียกเงินใต้โต๊ะ ลดความเหลื่อมล้ำให้สังคม เพราะหลักการระบุไว้ชัด หากใครมีที่ดินเยอะ มีที่ดินราคาแพง ต้องเสียภาษีมาก ทำให้กลุ่มนายทุนที่สะสมที่ดินไว้เก็งกำไร รวมถึงกลุ่มผู้ดีศักดินาเก่า ที่มีสมบัติที่ดินเหลือจำนวนมาก ต้องมีภาระจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น

ต่อมาดูในรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ที่เพิ่งผ่านชั้นกรรมาธิการฯ ไปนั้น ต้องยอมรับว่า รัฐบาลยอมเฉือนเนื้อตัวเองไปไม่น้อย เพื่อแลกกับการผลักดันให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านไปได้ โดยในชั้นพิจารณาของกรรมาธิการได้มีการปรับลดเพดานภาษีลง 40% จากร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินที่ผ่านการพิจารณาของ ครม. รวมถึงมีการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบอีกมากมายทำให้คาดว่าภาครัฐ สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นเพียงครึ่งเดียว หรือแค่ 1 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่คาดว่า มากกว่าปีละ 2 หมื่นล้านบาท

ส่งผลให้เพดานภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการฯ เป็นดังนี้ ที่ดินเกษตรกรรม ลดเพดานจาก 0.2% เหลือ 0.15% ที่ดินที่อยู่อาศัย ลดเพดานจาก 0.5% เหลือ 0.3% ที่ดินพาณิชยกรรม ลดเพดานจาก 2% เหลือ 1.2% และที่ดินว่างเปล่าไม่ทำประโยชน์ ลดเพดานจาก 2% ให้เหลือ 1.2% และลดส่วนบวกเพิ่มจาก 0.5% ทุก 3 ปี เหลือ 0.3% ทุก 3 ปี ทำให้เพดานสูงสุดจะลดจากไม่เกิน 5% เหลือเป็นไม่เกิน 3% เท่านั้น

ขณะที่การจัดเก็บภาษีจริงของที่อยู่อาศัยมูลค่า 0-50 ล้านบาท เก็บจริง 0.02% มูลค่า 50-75 ล้านบาท เก็บจริง 0.03% มูลค่า 75-100 ล้านบาท เก็บจริง 0.05% มูลค่าเกิน 100 ล้านบาท เก็บจริง 0.1% แต่ในกฎหมายมีข้อยกเว้นให้กรณีที่เป็นบ้านหลังหลักที่มีเจ้าของบ้านและที่ดินมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านได้รับการยกเว้นภาษีใน 50 ล้านบาทแรก แต่ถ้าเป็นเจ้าของเฉพาะบ้านแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินได้รับการยกเว้นแค่ 10 ล้านบาท ส่วนที่อยู่อาศัยหลังอื่นๆ จะไม่ได้รับยกเว้นและถูกเก็บเต็มอัตราที่กำหนดไว้

ส่วนที่ดินสำหรับพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม กำหนดอัตราเก็บภาษีจริง มูลค่า 0-50 ล้านบาท  เก็บ 0.3% มูลค่า 50-200 ล้านบาท เก็บ 0.4% มูลค่า 200-1,000 ล้านบาท เก็บ 0.5% มูลค่า 1,000-5,000 ล้านบาท เก็บ 0.6% และมูลค่าเกิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป เก็บ 0.7%  และประเภทสุดท้ายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ จะเก็บเท่ากับที่ดินเชิงพาณิชย์ โดยมูลค่า 0-50 ล้านบาท เก็บ 0.3% มูลค่า 50-200 ล้านบาท เก็บ 0.4% มูลค่า 200-1,000 ล้านบาท เก็บ 0.5% มูลค่า 1,000-5,000 ล้านบาท เก็บ 0.6% และมูลค่าเกิน 5,000 ล้านบาท เก็บ 0.7% แต่ในอนาคตจะมีการปรับเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ 0.3% ทุก 3 ปี จนใช้เวลา 27 ปี ถึงเต็มเพดาน 3%

ต้องเรียกว่า.รัฐบาล 'บิ๊กตู่" ยอมทุ่มจัดโปรโมชั่นสุดตัว ผลักดันให้กฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ให้ได้ แม้เหตุผล เพื่อต้องการลดความเหลื่อมล้ำ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้ารัฐบาลใช้ความพิเศษของรัฐบาลผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ นั่นเท่ากับว่า. เป็นการลบคำปรามาสจากทุกฝ่ายโดยสิ้นเชิงในรอบ 25 ปี 12 รัฐบาล ว่าไม่ได้ก้มหัวให้ใคร แต่ยังต้องรอการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระ 2 และ 3 ให้ชัดเจนก่อน

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

3 พฤศจิกายน 2561