พิษธปท.เข้มสินเชื่อบ้าน-ตลาดบนหนักสุด

พิษธปท.เข้มสินเชื่อบ้าน-ตลาดบนหนักสุด

นักวิเคราะห์คาด กฎเหล็กแบงก์ชาติ ส่อฉุดกำไรกลุ่ม อสังหาฯ ปีหน้าลดลง ห่วงทำตลาดบ้าน- คอนโดหรูราคาเกิน 10 ล้านซบเซา ด้าน บล.เคทีบี ประเมิน "อนันดา-ออริจิ้น -เอพี-ศุภาลัย" กระทบมากสุด เหตุมี โครงการราคาเกิน 10 ล้านรอโอนเพียบ ด้านบล.เอเซียพลัส ประเมินกำไรกลุ่ม อสังหาฯปีหน้าโตแผ่วเหลือ 8%

ธนาคารแห่งประเทศไทยออก แนวทางกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยกำหนดเงินดาวน์บ้านหลังที่สอง และบ้านที่มีมูลค่ามากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป ในสัดส่วน 20% ของราคา หรือคิดเป็น สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (แอลทีวี) ที่ 80% คาดเริ่มใช้ 1 ม.ค.2562

แหล่งข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์(บล.) กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อยอดซื้อบ้านและคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะในกลุ่มระดับบนอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้ยังต้องรอดูผลการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง(เฮียริ่ง) ก่อน ซึ่ง ธปท. จะเปิดชี้แจงกับผู้เกี่ยวข้อง 11 ต.ค.นี้

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าผลกระทบดังกล่าวคงไม่กระทบยอดขายโดยรวมทั้งหมด ของกลุ่มอสังหาฯ แต่อาจกระทบในส่วนของคนที่จะเข้ามาเก็งกำไรโดยเฉพาะ ยอดขายคอนโด ซึ่งส่วนใหญ่มักมี การซื้อเพื่อนำไปขายต่อหรือปล่อยเช่า ขณะที่ในส่วนยอดขายของชาวต่างชาติ เชื่อว่าจะไม่กระทบมากนัก เนื่องจาก เดิมกลุ่มลูกค้าต่างชาติมักดาวน์สูงกว่า 25% อยู่แล้ว

แหล่งข่าวกล่าวว่า กลุ่มอสังหาฯ ที่เน้นลูกค้าระดับบน อาจได้รับผลกระทบ มากสุด เช่น บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI,บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC และบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN

ขณะที่กลุ่มบริษัทที่น่าจะได้รับ ผลกระทบน้อยคือ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN, บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH และบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI  นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า มีมุมมองเป็นลบจากการที่แบงก์ชาติมีแผนปรับเกณฑ์ สินเชื่อที่อยู่อาศัยให้เข้มงวดมากขึ้น โดยประเมินว่า ANAN, บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)หรือ ORI, บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือAP และSPALI จะมีโครงการ ที่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบ มากสุด เนื่องจากมีหลายโครงการที่ราคาเกิน 10 ล้านบาท และมีคอนโดที่รอโอนในอีก 2-3 ปีข้างหน้าค่อนข้างมาก

นอกจากนั้นบางส่วนยังมาจากการซื้อของกลุ่มนักลงทุน (การซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 2 ขึ้นไป) ที่อาจชะลอตัวลงได้หลังประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งทำให้เรามองว่ามีความเสี่ยงที่ผลการดำเนินงานในปีหน้าอาจชะลอตัวมากกว่าคาดได้

ขณะที่ด้าน บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH, บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ QH และ SC จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า เนื่องจากโครงการส่วนใหญ่เป็นระดับลักชัวรี่ ซึ่งผู้ซื้อส่วนใหญ่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง ขณะที่เราคาดว่าจะมีผลกระทบที่ ค่อนข้างต่ำต่อ LPN, PSH และบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GOLD เนื่องจากโครงการส่วนใหญ่อยู่ในระดับกลางและล่าง ซึ่งเดิมเป็นกลุ่มที่ธนาคารค่อนข้างเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อและส่วนใหญ่เป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง

นางสาวนวลพรรณ น้อยรัชชุกร รองผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเชีย พลัส กล่าวว่า บริษัทยังไม่ได้ทบทวนปรับประมาณการกำไรของกลุ่มอสังหาฯที่มีบทวิเคราะห์ครอบคลุม 16 บริษัทในปีหน้า จากเดิมที่คาดว่าในปี 2562 กลุ่มอสังหาฯจะมีกำไรจากการดำเนินงานอยู่ประมาณ 4.56 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตจากเพียง 8% จากคาดการณ์กำไรปีนี้ที่คาดว่าจะทำได้ 4.2 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 17%

โดยฝ่ายวิจัยประเมินว่าแม้เกณฑ์ใหม่จะควบคุมสินค้าทุกประเภททั้งแนวราบและคอนโดฯ แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการมีการเรียกเก็บเงินดาวน์ในอัตรา 15-20% อยู่แล้ว และเฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่อาศัย ที่ราคาสูงกว่า 10 ล้านบาท ก็มักจะเก็บเงินดาวน์สูงกว่า 20% ส่วนแนวโน้มการโอนฯในงวดไตรมาส 4/2561 เชื่อว่าจะเห็น การเร่งโอนฯและขายบ้านพร้อมโอนฯ มากขึ้น เนื่องจากเกณฑ์ใหม่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 ตัวเลือกการลงทุนช่วงนี้ จึงเน้นหุ้นที่ให้ Dividend Yield สูง คือ LH, QH และ SC

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

8 ตุลาคม 2561