แบงก์รัฐ พยุงเศรษฐกิจ อัดสินเชื่อ 4.6 แสนล้าน

แบงก์รัฐ พยุงเศรษฐกิจ อัดสินเชื่อ 4.6 แสนล้าน

คลังเผยผลดำเนินงานแบงก์รัฐ 7 เดือนแรก เร่งอัดสินเชื่อเข้าระบบเพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนล้าน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ด้านเงินฝากชะลอตัว ส่วนหนี้เสียขยับมาอยู่ที่ 2.41 แสนล้าน

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยผลดำเนินงานสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือแบงก์รัฐ 7 เดือนแรก 2561 ว่า ยอดสินเชื่อของทั้งระบบอยู่ที่ 4.69 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนกว่า 3.5 แสนล้านบาท ที่มียอดสินเชื่อคงค้างทั้งระบบที่ 4.34 ล้านล้านบาท ด้านเงินรับฝากทั้งระบบ อยู่ที่ 4.74 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันกว่า 2.76 แสนล้านบาท ที่มีเงินฝากทั้งระบบกว่า 4.46 ล้านล้านบาท

สำหรับกำไรสะสมทั้งระบบ 7 เดือนแรก อยู่ที่ 3.47 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 4,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ทั้งระบบอยู่ที่ในช่วง 5 เดือนแรกอยู่ที่ 2.41 แสนล้านบาท คิดเป็น 4.29% เพิ่มจากไตรมาสแรกที่มีเอ็นพีแอล อยู่ที่ 2.31 แสนล้านบาท คิดเป็น 4.11%

ขณะที่ยอดสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือ SM ทั้งระบบ 7 เดือนแรก อยู่ที่ 2.52 แสนล้านบาท คิดเป็น 4.45% เท่ากับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มจากเดือนก่อนกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ด้านปริมาณสินเชื่อต่อยอดเงินฝากในระบบ หรือ L/D ในช่วง 7 เดือนแรก อยู่ที่ 98.8% ใกล้เคีบงกับในช่วงไตรมาสแรก อยู่ที่ 97.57% ขณะที่เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือบีไอเอส ของทั้งระบบ 7 เดือนแรก อยู่ที่ 12.91% อยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสแรกที่มี บีไอเอสที่ 12.85%

ฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ล่าสุด ธอส.สามารถปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 1.54 แสนล้านบาท และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะปล่อยสินเชื่อได้ถึง 2.2 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ 1.89 แสนล้านบาท เนื่องจากธนาคารผ่อนเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อทำให้ช่วยผู้กู้มีโอกาสรับสินเชื่อง่ายมากขึ้น

ด้าน ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 4-6% คิดเป็นยอดสินเชื่อปล่อยใหม่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 8 หมื่นบาท-1.2 แสนล้านบาท โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างที่ระดับ 1.82 ล้านล้านบาท และมีเงินฝากคงค้างที่ระดับ 2.12 ล้านบาท

ทั้งนี้ การเร่งปล่อยสินเชื่อถือเป็นไปตามการเติบโตเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว เพื่อผลักดันเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งมากขึ้น และเดินหน้าระดมเงินฝากรองรับการขยายตัวของสินเชื่อ ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล  ตั้งเป้าหมายลดลงเหลือ 2.2-2.3% จากปัจจุบัน อยู่ที่ 2.4% ของสินเชื่อรวม โดยจะพยายามควบคุมคุณภาพหนี้อย่างใกล้ชิด

ขณะที่ อภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ในปีบัญชี 2561 ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อหมุนเวียน 7.5 แสนล้านบาท ซึ่งมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหลายโครงการ เช่น มาตรการเกษตรประชารัฐเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โครงการลดต้นทุนให้เกษตรกรดอกเบี้ย 4% วงเงิน 9 หมื่นล้านบาท โครงการส่งเสริมการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดให้สถาบันเกษตรกร ดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ลบ 3 วงเงิน 3,600 ล้านบาท โครงการสินเชื่อเอสเอ็มอีดอกเบี้ย 4% วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท โครงการสินเชื่อเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตรดอกเบี้ย 4% วงเงิน 5,000 ล้านบาท

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

1 ตุลาคม 2561