ตลาดสดกลางกรุงแนวรถไฟฟ้าโซนสุขุมวิท-สีลม-บางรัก ร้อนฉ่า บิ๊กเนมฮุบขึ้นคอนโดฯ-โรงแรม-ห้าง เบียร์ช้าง-แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ยึดเรียบย่านกลางเมือง ค่ายพฤกษา-ศุภาลัย สนตลาดโชคชัย 4 ลั่นซื้อทุกแปลงที่มีศักยภาพ
ตลาดสดหรือตลาดนัดเป็นที่หมายตาของบริษัทพัฒนา ที่ดิน เนื่องจากตั้งอยู่ในทำเลโอบล้อมไปด้วยชุมชน หลายแปลงมีรถไฟฟ้า-โครงข่ายถนนตัดผ่าน ไม่มีสิ่งปลูกสร้างให้รื้อถอน ขณะเดียวกันวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่เปลี่ยนต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น การจับจ่ายมักนิยมเดินตามห้างสรรพสินค้ารวมถึงการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์แม้แต่อาหารการกินซ้ำร้ายหากภาษีที่ดินบังคับใช้ยิ่งเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ครอบครองยิ่งง่ายต่อการขายต่อ
"ฐานเศรษฐกิจ"สำรวจตลาดนัดในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่าตลาดนัดหลายทำเลในเขตกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะใจกลางเมืองเริ่มมีนายหน้า บริษัทพัฒนาที่ดินทาบทามซื้อเพื่อพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า เนื่องจากชุมชนขยายตัว มีโครงข่ายรถไฟฟ้าผ่าน จึงเป็นทำเลทองที่ผู้ประกอบการต้องการ
จากการสอบถามผู้ค้าในตลาดนัดย่านสีลม ระบุว่า ตลาดสดหน้าวัดแขก หรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า ตลาดวัดแขก บริษัทในเครือข่ายนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าสัวเบียร์ช้างได้ติดต่อซื้อไปแล้ว ราคาขายต่อตารางวาไม่น่าต่ำกว่า 1 ล้านบาท โดยสัญญาเช่าแผงค้ากับเจ้าของตลาดจะสิ้นสุดในอีก 1-2 ปี ปัจจุบันเจ้าของเปิดโอกาสให้ขายต่อ และกลุ่มเดียวกันนี้ยังได้ซื้อตลาดจอมสมบูรณ์ ติดซอยชุมชนพระนคเรศเช่นเดียวกับ ตลาดนัดซึ่งเป็นที่ดินแปลงว่างเปล่าอยู่เยื้องกับ ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ทราบว่าบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH ซื้อไปแล้ว มองว่าเป็นทำเลที่ดีเหมาะพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียม หรือ ไม่ก็คอมมิวนิตีมอลล์
สำหรับ ตลาดโชคชัย4 ปัจจุบันประกาศขาย โดยมี 2 บริษัทอสังหาฯชั้นนำ ได้แก่ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ต่างให้ความสนใจโดยระบุว่าทุกแปลงทุกทำเลหากมีศักยภาพ นอกจากนี้ยังมีตลาดแฮปปี้แลนด์ ตลาดบางกะปิ ซึ่งอยู่ในทำเลรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ทำเลศรีนครินทร์มีตลาดเอี่ยมสมบัติ เชื่อว่าน่าจะถูกพลิกโฉม เหมือนทำเลบนถนนสุขุมวิท แนวรถไฟฟ้าบีทีเอสโฟกัสสถานีบางจาก ถูกแปลงโฉมจาก ตลาดสดเก่าแก่หลายชั่วอายุคน ปัจจุบันกลายเป็นคอนโดมิเนียมสูงของบริษัทอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)ที่อยู่ระหว่างเปิดขาย
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตทพรีเมียม บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ย้ำว่า บริษัทพัฒนาที่ดินทุกค่ายต่างให้ความสนใจตลาดนัดหรือตลาดสด เพราะง่ายต่อการปรับพื้นที่ แปลงที่ดินผืนใหญ่ เหมาะพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยแนวสูง โดยเฉพาะบนถนนสุขุมวิทตลอดแนวรถไฟฟ้ายาวไปถึงแยกบางนาถูกนายทุนจับจองทั้งหมดแล้ว
นายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท นิรันดร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด และกลุ่มนิรันดร์ สะท้อนว่า ตลาดปัจจุบันเริ่มบางตา แต่ยังมีหลายแห่งที่เจ้าของยังไม่ขาย แม้ผู้ประกอบการจะทาบทามก็ตาม เช่นตลาดอุดมสุขติดสถานีบีทีเอสอุดมสุข ถือเป็นทำเลศักยภาพ เหมาะพัฒนาคอนโดมิเนียม แต่เชื่อว่าอีกไม่นาน จะต้องนำออกขาย และมีอีกหลายตลาดที่ยังเติบโต เช่น ตลาดสำโรง ตลาดเทพารักษ์ ตลาดบางนา แนว รถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้แบริ่งสมุทรปราการ พื้นที่โดยรอบถูกล้อมด้วยคอนโดมิเนียม จากการสอบถามเจ้าของ ต่างระบุว่าไม่ขาย แต่เชื่อว่าหากตกถึงรุ่นทายาท คงจะไม่มีใครเก็บไว้ ขณะที่ ตลาด พระโขนงเนื้อที่ 7-8 ไร่ เจ้าของบอกขาย 1.3 ล้านบาทต่อตารางวา ใกล้เคียงกับสุขุมวิท ตอนต้น ซึ่งถือว่าแพง เพราะราคาซื้อขายจริงอยู่ที่ไม่เกิน 4-5แสนบาทต่อตารางวาหากเทียบ 10 ปีที่ผ่านมาราคาอยู่ที่ 7-8 หมื่นบาทต่อตารางวาเท่านั้น ส่วนตลาดบางจาก เป็นที่ดินแปลงยาวมาถึงตลาดอุดมสุข ได้ติดต่อบริษัท 2-3 ครั้ง เพื่อเสนอขาย ที่ดินโดยให้เหตุผลว่าผู้ค้าในตลาดลดลง และต้องการเลิกกิจการตลาด แต่ในที่สุดไม่ได้ตกลงใจซื้อ เพราะบริษัทมีที่ดินอยู่แล้วและเปิดเป็นโรงแรมขนาดเล็กแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส บนทำเลเดียวกัน
นางรัตนา รอดอุไร เจ้าของตลาดนัดแม่ประคองหรือที่ชุมชนย่านลาดพร้าวเรียกว่า "ตลาดเจ้าแม่กวนอิม" ระบุว่า ตลาดแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ระหว่างลาดพร้าว-วังหิน 41-43 เป็นที่ดินของครอบครัวสามีซึ่งมีเจ้าของหลายรายหลังจากถูกแบ่งเป็นมรดก มีพื้นที่ขนาด 2 งานเศษ แต่ยังไม่รวมในส่วนที่เป็นลานจอดรถด้านหลังตลาด เป็นแปลงที่อยู่ติดกับที่ข้างๆซึ่งก่อนหน้านี้ขายให้กับกลุ่มพฤกษาสร้างคอนโดมิเนียมไปแล้วราว 3 ไร่ เป็นเงิน 120 ล้านบาท ซึ่งเป็น แปลงที่ขายง่าย เพราะในโฉนดเป็นเจ้าของคนเดียวไม่ได้แบ่งซอยย่อยเหมือนพื้นที่ในตลาดสด และเป็นย่านที่เดินทางสะดวกถนนเชื่อมโยงไปได้หลายทาง
ส่วนที่ดินตลาดนัดแม่ประคองในช่วงที่ผ่านมาก็มีนักลงทุนสนใจติดต่อเข้ามา ส่วนใหญ่จะสร้างร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น และเทสโก้ โลตัส ขนาดเล็กมาขอเช่า บางรายก็มาขอซื้อเพื่อทำโครงการที่อยู่อาศัย ก็จะถูกปฏิเสธไปเพราะที่แปลงนี้ทางครอบครัวและญาติต้องการให้เป็นรายได้ใช้จ่ายต่อเดือน เพราะมีผู้เช่าขายของประจำราว 30 ราย และเป็นขาจรมาเช่าอีก 20-25 ราย เก็บค่าเช่ารายวัน ตั้งแต่ 50-100 บาทต่อวัน ส่วนอนาคตก็ยังตอบไม่ได้เพราะที่แปลงนี้มีเจ้าของหลายคนเกี่ยวข้องอยู่
เช่นเดียวกับเจ้าของตลาดโรงไม้ เนื้อที่ 3ไร่ ในซอยลาดพร้าว 71 เชื่อมทะลุซอยโชคชัย 4 ระบุว่า ที่ผ่านมามีเอกชนติดต่อขอซื้อที่ดินหลายรายเพื่อพัฒนาบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ร้านสะดวกซื้อ แต่ได้ปฏิเสธไป ยังไม่ขายในช่วงนี้เนื่องจากเป็นที่ดินจากบรรพบุรุษ
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
2 สิงหาคม 2561