เจ้าสัวเจริญ ยึดลาซาล ปักหมุดคอมมูนิตี้มอลล์

เจ้าสัวเจริญ ยึดลาซาล ปักหมุดคอมมูนิตี้มอลล์

ในบรรดาบริษัทใต้อาณาจักร "ไทยเจริญ คอร์ปอเรชั่น" หรือทีซีซี กรุ๊ป ของเจ้าสัวเจริญ ค่าย "แอสเสท เวิรด์ รีเทล" คือเครื่องยนต์สำคัญในการพัฒนาห้างค้าปลีกโมเดลต่างๆ เช่นศูนย์การค้าเกตเวย์, เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์, พันธุ์ทิพย์, บ็อกซ์ สเปซ, ตะวันนา มาร์เก็ต  ล่าสุดกับการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของคอมมูนิตี้มอลล์ "ลาซาล อเวนิว" บนเนื้อที่ 19 ไร่ ในซอยลาซาล หลังฟูมฟักโปรเจคนานนับปี

มานพ คำสว่าง ผู้จัดการบริหารทรัพย์สิน บริษัท แอสเสท เวิรด์ รีเทล จำกัด เปิดเผยว่า ลาซาล อเวนิว ถือเป็นโมเดลห้างค้าปลีกที่ 6 ของบริษัท และการสร้างคอมมูนิตี้มอลล์บนพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนำที่ดินของเจ้าสัวเจริญมาพัฒนาต่อยอดแล้ว ยังมองถึงศักยภาพของทำเลที่ตั้งในรัศมี 4 กิโลเมตร ครอบคลุมย่านบางนา สุขุมวิท และศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นประตูสู่เขตอุตสาหกรรมทั้งสมุทรปราการและภาคตะวันออก

ที่สำคัญย่านดังกล่าว มีประชากรกว่า 2.3 แสนคน มีกำลังซื้อสูงเฉลี่ย 4.5 หมื่นบาทต่อครัวเรือน ไม่นับประชากรแฝงในพื้นที่อีกจำนวนมาก โครงการยังห้อมล้อมด้วยโรงเรียนนานาชาติ 3 แห่ง ดังนั้น คอนเซ็ปต์ของโครงการจึงยึด "ชุมชน" เป็นตัวตั้งเพื่อตอบโจทย์ ขณะที่การทำให้ห้าง "แจ้งเกิด" จะต้องหา "แม่เหล็ก" ที่โดดเด่นและแบรนด์ที่แข็งแรงมาเป็นตัวดึงดูดลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย(ทราฟฟิก)

โดยแบรนด์ที่คัดสรรมาเรียกว่า เป็น "ท็อป"ของแต่ละหมวด (แคทิกอรี) เช่น ร้านฟาสต์แฟชั่น "ยูนิโคล่ โร้ดไซด์" แห่งที่ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ซูเปอร์มาร์เก็ตแบรนด์พรีเมียม"วิลล่า มาร์เก็ต"  ร้านสินค้าความงามและยาเบอร์ 1 จากฮอกไกโด "ซูรูฮะ" ร้านอาหารออก้า เบเคอร์ แอนด์ บุชเชอร์ (Orca Baker & Butcher) และร้าน "เคเอฟซี"ซึ่งเป็นการผนึกกำลังกับ ไทยเบฟเวอเรจ นำร้านเคเอฟซีรูปแบบใหม่ๆ ที่ดีไซน์แปลกตาเล็กน้อยมาอยู่ในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีตลาดนัดอินดี้ แม็กซ์เน็ต  มาร์เก็ต" ที่จัดเฉพาะศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เอาใจผู้บริโภคเพิ่มเติม และยังอัดกิจกรรมการตลาดอื่นๆ เพื่อเรียกทราฟฟิกยาวทั้งปี

สำหรับลาซาล อเวนิว หลังเปิดให้บริการถึงสิ้นปีนี้ คาดว่าจะมีรายได้ 37 ล้านบาท และระยะคืนทุนคาดว่าอยู่ที่ 5-7 ปี เมื่อรวมทั้งพอร์ตโฟลิโอที่ "มานพ" ดูแล ประกอบด้วย เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ,โอ.พี.เพลส, ลาซาล อเวนิว ฯ คาดว่าปีนี้จะทำรายได้ราว 700 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 500 ล้านบาท

ส่วนแผนพัฒนาห้างค้าปลีกอื่นๆ ขณะนี้กำลังทบทวนการปรับคอนเซ็ปต์บ็อกซ์ สเปซ รัชโยธิน เนื่องจากของเดิมไม่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายคนทำงานย่านดังกล่าว ซึ่งต้องการร้านอาหารติดแอร์ และแหล่งแฮงเอาท์ระดับ 4-5 ดาว แต่แม่เหล็กที่มีกลับเป็นร้านเปิดทำให้ร้อน ร้านแฮงเอาท์ เป็น 2 ดาว โดยคอนเซ็ปต์ใหม่คาดว่าจะเห็นปีหน้า รวมถึงจะเดินหน้าพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสบนเนื้อที่ราว 14 ไร่บริเวณเวิ้งนาครเขษม โดยคอนเซ็ปต์ของโครงการยังเน้นการอนุรักษ์ประวัติของพื้นที่ไว้

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

25 กรกฎาคม 2561