บูมโซนเหนือ-ตะวันออกผุดตึกสูง-พระราม9ซีบีดีใหม่ ที่พุ่งรับผังใหม่กทม.

บูมโซนเหนือ-ตะวันออกผุดตึกสูง-พระราม9ซีบีดีใหม่ ที่พุ่งรับผังใหม่กทม.

เปิดแนวฟลัดเวย์แสนไร่ผุดบ้านเดี่ยว ผังกทม.ใหม่ปลดล็อกความเข้ม เอื้อบิ๊กทุนผุดตึกสูงรับรถไฟฟ้า 10 สาย พระราม 9 ซีบีดีใหม่ พลิกโฉมมากสุดกรุงเทพฯตอนเหนือ จตุจักร-ชนแยกรัชโยธิน-รัชวิภา ปูสีน้ำตาลจากเดิมสีส้ม ลาดพร้าว-ศรีนครินทร์ดันราคาที่พุ่ง

คาดว่าการปรับผังเมืองครั้งนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าที่ดินให้สูงขึ้นและพัฒนาโครงการได้มากขึ้น สำหรับโซนที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุด คือกรุงเทพฯตอนเหนือ ตั้งแต่ถนนรัชดาภิเษกตอนเหนือบริเวณศาลอาญาเชื่อมต่อกับถนนพหลโยธิน บริเวณถนนรัชโยธิน อ้อมไปทางอาคารสำนักงานใหญ่ไทยพาณิชย์ ถนนวิภาวดีรังสิตบริเวณวัดเสมียนนารี ยาวมาถึงจตุจักร หรือ บริเวณเซ็นทรัลลาดพร้าวไปชนกับรัชโยธิน-เอสซีบี ปรับเป็นพื้นที่สีน้ำตาล ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก 8-9 สร้างอาคารเกิน 10,000 ตารางเมตร เอฟเออาร์สัดส่วนอาคารต่อแปลงที่ดิน 7 ต่อ 1 จากเดิมเป็นพื้นที่สีส้ม ย.5-7 เอฟเออาร์ประมาณ 5-6 ต่อ 1

นอกจากนี้ยังมีรถไฟฟ้าสายสีเหลือง โดยจุดเริ่มต้น แยกรัชดาฯ-ลาดพร้าว มีรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินเดินรถ ปัจจุบันเป็นพื้นที่สีน้ำตาล ย.9 สร้างได้ 7 เท่าของแปลงที่ดิน เอฟเออาร์ 7ต่อ 1 ซึ่งทำเลนี้ กำลังพิจารณาว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ แต่พื้นที่ที่ปรับตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมี 2 เขตคือ เขตลาดพร้าว ไปชนถนนประเสริฐมนูกิจ ถนนรามอินทรา และเขตวังทองหลาง ปรับเป็นพื้นที่สีส้ม ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง ย.5 -6 เอฟเออาร์ 4-5 ต่อ1 สร้างได้ 4-5 เท่าของแปลงที่ดิน จากปัจจุบันเป็นพื้นที่สีเหลือง ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย ย.4 เอฟเออาร์ 3 ต่อ 1 สร้างได้ 3 เท่า ของแปลงที่ดินพัฒนาคอนโดมิเนียมขนาดไม่เกิน 10,000 ตารางเมตร

ขณะที่บางกะปิ ปัจจุบันเป็นพื้นที่สีแดง พ.3 ซึ่งอนาคตจะเชื่อมกับรถไฟฟ้าหลายสาย ทั้งสายสีเหลืองและสีส้ม บริเวณสถานีลำสาลี แต่ถือว่าบริเวณนี้ เปิดให้พัฒนาสูงแล้ว อาจไม่เปลี่ยนแปลงขณะที่ถนนศรีนครินทร์ ปรับจากพื้นที่สีเหลือง ย.4 เป็นพื้นที่สีส้ม ย.5-6 เช่นเดียวกัน แต่บริเวณห้างซีคอนฯ ตลาดศรีเอี่ยม เซ็นทรัลบางนา ไบเทค เป็นพื้นที่สีแดง พ.3 ซึ่งเข้าใจว่าบริเวณนี้ไม่น่าเปลี่ยนแปลง สอดคล้องกับถนนรามคำแหง รถไฟฟ้าสายสีส้ม ปัจจุบันเจริญมากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสีส้มและแดง ทำให้การปรับเปลี่ยนสีผังแทบไม่มีแต่อาจกำหนดการใช้กิจกรรมว่ารอบสถานีจะพัฒนาอะไรได้บ้างเช่นอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม ฯลฯ

ส่วนพื้นที่ใช้ประโยชน์ที่ดินปรับสูงสุดคือ 3 ศูนย์คมนาคมในอนาคต ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์กำหนดเป็นฮับใหญ่ คือ ศูนย์กลางคมนาคมพหลโยธินที่จะพัฒนา ศูนย์กลางคมนาคมมักกะสันพัฒนาร่วมกับรถไฟความเร็วสูง เชื่อม3 สนามบิน และศูนย์กลางคมนาคมตากสิน-วงเวียนใหญ่ จากพื้นที่สีน้ำเงินใช้สำหรับหน่วยงานราชการเป็นพื้นที่สีแดง พ.4 เอฟเออาร์ 8 พัฒนาได้ 8 เท่าของแปลงที่ดิน ซึ่งจะเป็นซีบีดีรองจากสีลม สาทร สุขุมวิทในอนาคต

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

12 กรกฎาคม 2561