เร่งมอเตอร์เวย์ใหม่ 3 สาย

เร่งมอเตอร์เวย์ใหม่ 3 สาย

กรมทางหลวงเร่งก่อสร้างมอเตอร์เวย์ในอีอีซี เผยพัทยามาบตาพุด คืบหน้า 75% เตรียมของบประมาณสร้างมอเตอร์เวย์ในอีอีซีเพิ่มอีก 3 สาย กว่า 8.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่กรมทางหลวงชนบทเตรียมขยายช่องจราจรเพิ่ม 3 เส้นทาง

ขณะเดียวกันกรมทางหลวงกำลังเร่งสรุปผลการศึกษาออกแบบมอเตอร์เวย์ เส้นทางท่าเรือแหลมฉบัง-ปราจีนบุรี ที่จัดอยู่ภายใต้โครงการพัฒนามอเตอร์เวย์ สายชลบุรี-หนองคาย ตามแผนกลยุทธ์การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย พร้อมทั้งดำเนินการเปิดรับฟังความเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่จ.ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี โดยคาดว่าจะเสร็จในปี 2561

นอกจากนี้ จะเร่งสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมทั้งเศรษฐกิจ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในส่วนของเส้นทางท่าเรือแหลมฉบัง-ปราจีนบุรี เพื่อผลักดันโครงการให้เกิดขึ้นเร็ว เพราะเป็นเส้นทางสำคัญที่ใช้เชื่อมการเดินทางตามแนวเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการสนับสนุนการขนส่งสินค้าจากพื้นที่อีอีซีสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่รูปแบบการลงทุนเบื้องต้นจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบพีพีพี ประมาณการณ์งบลงทุนราว 2.8 หมื่นล้านบาท ของบมอเตอร์เวย์ 3 สาย 8 หมื่นล้าน

สำหรับแนวเส้นทางมอเตอร์เวย์แหลมฉบัง-ปราจีนบุรี มีจุดเริ่มต้นบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และไปสิ้นสุดบริเวณทางหลวงหมายเลข 359 ในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี รวมระยะทางประมาณ 125 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ศึกษาจำนวน 3 จังหวัด 10 อำเภอ โดยแผนการก่อสร้าง แบ่งเป็น 2 ตอน คือ ตอน 1 ชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง)-ทางหลวงหมายเลข 3340 ระยะทางประมาณ 63.4 กิโลเมตร ตอน 2 ทางหลวงหมายเลข 3340-ปราจีนบุรี (ทล.359) ระยะทางประมาณ 60.6 กิโลเมตร

สำหรับกรมทางหลวงชนบทที่เป็นภาคส่วนสำคัญในการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทางถนน โดยข้อมูลการลงทุนของกรมทางหลวงชนบทปีนี้ จัดสรรงบพัฒนา ทางหลวงชนบทในอีอีซี 3 โครงการ ลงทุน 5.5 พันล้านบาท คือ 1.ทางหลวงชนบท สาย รย.5050 แยกสายนิคมสร้างตนเองสาย 15 ถึงบ้านห้วยโป่ง อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง ระยะทาง 10.198 กิโลเมตร วงเงิน 197.5 ล้านบาท 2.ทางหลวงชนบทสายแยกทางหลวงหมายเลข 7 ไปท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 1,499 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จในปี 2562 เพื่อพัฒนาเป็นเส้นทางเชื่อมระบบขนส่งท่าเรือสนับสนุนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ 3.ถนนทางหลวงสาย ฉช.3001 แยกทางหลวงหมายเลข 314 ไปลาดกระบัง ระยะทาง 20.328 กิโลเมตร วงเงิน 3,801 ล้านบาท ปัจจุบันงานก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่า 35% โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2562

ขณะที่อีก 2 โครงการกำลังก่อสร้างและจะเปิดในปี 2562 โดยได้ก่อสร้างถนนผิวจราจรแบบแอสฟัลท์คอนกรีต ขนาด 4-6 ช่องจราจร สร้างสะพานคอนกรีต พร้อมระบบระบายน้ำ ไฟฟ้าแสงสว่าง สิ่งอำนวยความสะดวก ความปลอดภัยของผู้ใช้ทาง โดยคาดว่าการพัฒนาเส้นทางนี้จะส่งผลบวกต่อระบบขนส่งท่าเรือ สนับสนุนอุตสาหกรรม โลจิสติกส์และอำนวยความสะดวกการเดินทางบริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เชื่อมต่อการขนส่งในเขตนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังและอีอีซี

ทั้งนี้ ปี 2562 จะพัฒนาช่องจราจรเพิ่มเติม อีก 3 เส้นทาง คือ 1.ก่อสร้างทางหลวงชนบท รย.4058 แยกทางหลวง 3138 ไปทางหลวง 344 อ.บ้านค่าย จ.ระยอง โดยขยายช่องจราจรและปรับปรุงผิวถนนระยะทาง 32.8 กิโลเมตร วงเงิน 209 ล้านบาท รองรับเส้นทางขนส่งผ่านไปยังนิคมอุตสาหกรรมไออาร์พีซี 2.ทางหลวงชนบท รย.3013 แยกทางหลวง 331 ถึงทางหลวง 3191 อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ระยะทาง 17.3 กิโลเมตร วงเงิน 855 ล้านบาท ขยายเป็น 4 ช่องจราจรพร้อมงาน ระบบ และ 3.ทางหลวงชนบท รย.2015 แยกทางหลวง 36 ถึงทางหลวง 331 อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เบื้องต้นตั้งงบค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินไว้ 150 ล้านบาท

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

10 กรกฎาคม 2561