เร่งปิดดีลBTSเหมาสายสีเขียว ขยายสัญญา40ปี-รวบสัมปทานเดียว

เร่งปิดดีลBTSเหมาสายสีเขียว ขยายสัญญา40ปี-รวบสัมปทานเดียว

เร่งปีดดีล BTS เหมาเดินรถสายสีเขียวทั้งโครงการ จ่อรวบเป็นสัมปทานเดียว ขยายสัญญาเดิม 30 ปีเริ่มปี 2573-2602 รวม 40 ปี แลกลงทุนงานระบบ 20,000 ล้าน ภาระขาดทุน 10 ปี 22,000 ล้าน เก็บค่าโดยสาร 15-65 บาท ด้าน กทม.นำรายได้ต่อขยายและในอนาคตโปะหนี้โยธา 60,000 ล้าน ดีเดย์ 11 ส.ค.เปิดหวูดหมอชิต-เซ็นทรัลลาดพร้าว นั่งฟรี 2 เดือนถึง ก.ย.นี้

นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) วิสาหกิจกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” หลังมีคำสั่งใช้มาตรา 44 ให้ กทม.เร่งดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-แบริ่ง, ช่วงบางหว้า-สนามกีฬาแห่งชาติ, ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคตให้สามารถเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน รวมทั้งกำหนดอัตราค่าโดยสารเป็นไปอย่างเหมาะสม

โดย กทม.จะเจรจากับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้รับสัมปทานรายเดิมให้ได้ข้อยุติโดยเร็วที่สุด เพื่อรองรับกับการเปิดใช้ส่วนต่อขยายใหม่ที่รับโอนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คาดว่าจะเจรจาแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้ เพื่อเริ่มเก็บค่าโดยสารตามโครงสร้างใหม่ หลังจากที่รถไฟฟ้าช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการได้เปิดใช้ฟรีมาตั้งแต่ปลายปี 2561 และช่วงหมอชิต-คูคตที่จะเปิดฟรี 1 สถานีจากหมอชิต-เซ็นทรัลลาดพร้าววันที่ 11 สิงหาคมถึงเดือนกันยายนนี้

ด้านอายุสัมปทานมีแนวโน้มจะนำทั้งสัมปทานเก่าและส่วนต่อขยายใหม่มารวมเป็น “สัมปทานเดียว” โดยขยายออกไปอีก 30 ปี จากสัมปทานเก่าที่จะหมดในเดือนธันวาคม 2572 จะเริ่มนับหนึ่งในปี 2573-2602 รวมเป็นระยะเวลา 40 ปี เนื่องจากสัมปทานเก่า BTS ได้นำเข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐานไปแล้ว จึงไม่สามารถจะนำมาดำเนินการใด ๆ ได้

ด้านนางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัด กทม. ในฐานะเลขาฯคณะกรรมการ กล่าวว่า เบื้องต้นมีบางข้อเสนอที่ BTS พอรับได้ และยังมีบางข้อเสนอที่ยังมีเงื่อนไขเจรจากันอยู่ เช่น จะแยกสัมปทานระหว่างเก่าและส่วนต่อขยายใหม่ อายุสัมปทานจะกี่ปีและเริ่มนับตั้งแต่ปีไหน

แหล่งข่าวจาก กทม.กล่าวถึงมูลหนี้สายสีเขียวต่อขยาย 2 ช่วงที่ กทม.รับโอนจาก รฟม. แยกหนี้ค่างานโครงสร้างพื้นฐาน 44,429 ล้านบาท, ค่าดอกเบี้ย 13,046 ล้านบาท, ค่าเวนคืนที่ดินพร้อมดอกเบี้ย 9,356 ล้านบาท, ค่างานระบบ 22,373 ล้านบาท, ค่าดอกเบี้ยงานระบบ 1,511 ล้านบาท รวม 90,581 ล้านบาท แต่ถ้ารวมค่าผลขาดทุนจากการดำเนินการ 10 ปี 21,133 ล้านบาท ก็จะมียอดรวม 111,715 ล้านบาท

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.BTSC เปิดเผยว่า บริษัทได้ร่วมประชุมกับคณะกรรมการเพื่อรับโจทย์การเจรจาแล้ว โดยมีกรอบเงื่อนไขสำคัญคือ ค่าโดยสารสูงสุดต้องไม่เกิน 65 บาท แต่ด้วยระยะทางที่เพิ่มขึ้นทางรัฐจะต้องช่วยอุดหนุนด้วย ส่วนอายุสัมปทานยังไม่สรุป เพราะยังไม่มีข้อยุติว่าจะเป็นสัมปทานเดียวหรือแยกสัมปทาน ซึ่งจะนำกรอบเจรจาเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) BTS พิจารณาภายในเดือนกรกฎาคมนี้เพื่อนำไปเจรจากับ กทม.ต่อไป

 

ประชาชาติธุรกิจ

12 กรกฎาคม 2562