บิ๊กเนมบุกหนัก โซลาร์รูฟท็อปครัวเรือน

บิ๊กเนมบุกหนัก โซลาร์รูฟท็อปครัวเรือน

บิ๊กอสังหาบุกโซลาร์รูฟ รับความต้องการใช้ไฟฟ้าพุ่ง ขณะที่พลังงานทางเลือกอย่างโซลาร์รูฟท็อป มีเทคโนโลยีก้าวหน้าคุ้มค่าลงทุนมากขึ้น

จากแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้า ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่พลังงานทางเลือกมีเทคโนโลยีก้าวหน้าคุ้มค่าลงทุนมากขึ้น ทำให้คาดการณ์ว่าในปี 2593 สัดส่วนการใช้พลังงาน 2 ใน 3 จะมาจากพลังงานทดแทนเช่น ลม และแสงแดด

นฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียร์ริ่ง เปิดเผยว่า จากตัวเลขสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย ระบุว่า ในปี 2561 คาดว่าจะมีการติดตั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาเพิ่มสูงขึ้นในระบบ 300-500 เมกะวัตต์ จากเดิมที่มีอยู่ 2,600 เมกะวัตต์ ทั้งในส่วนโซลาร์รูฟท็อปและโซลาร์ฟาร์ม

ขณะที่ต้นทุนการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปปรับตัวลดลง 5-10% ในช่วงปีที่ผ่านมา หรือลดลง 70-80% จาก 7-8 ปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันอยู่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท/เมกะวัตต์ และแนวโน้มราคาอาจมีการปรับลงอีกจากมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 4 ปีนี้

ทั้งนี้ บริษัทเห็นถึงความต้องการไฟฟ้าภายในประเทศมากขึ้นทุกปี ขณะที่การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเป็นที่นิยมมากขึ้น ล่าสุดบริษัทได้เปิดตัวแบรนด์ GRoof (กรูฟ) เพื่อขยายตลาดโซลาร์ โดยเน้นกลุ่มที่พักอาศัยและกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยให้เข้าถึงระบบดังกล่าวได้ง่ายขึ้น

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจ ภายใต้แบรนด์กรูฟนั้น นฤชล กล่าวว่า ปีนี้บริษัทจะเร่งสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รับรู้ของผู้บริโภคและกลุ่มเป้าหมาย โดยจะเน้นกลุ่มบ้านเรือนทั่วไปสัดส่วน 60% และโครงการจัดสรร 40% ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับดีเวลอปเปอร์ 2-3 ราย รวมทั้งการเพิ่มตัวแทนจำหน่ายและตัวแทนติดตั้งกลุ่มละ 100 รายในปีนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 40-50 ราย

นอกจากนี้ ยังมีแผนจะทำการตลาดเชิงรุกโดยวางงบทำตลาดไว้ประมาณ 10-15% ของรายได้ รวมทั้งมีแผนจะขยายตลาดต่างประเทศ เช่น กัมพูชา เมียนมา สปป.ลาว ฯลฯ โดยจะเน้นบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่เป็นของคนไทยในพื้นที่ก่อน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาคาดว่าจะดำเนินธุรกิจได้ในปี 2562 พร้อมตั้งเป้าขยายตลาดให้ครอบคลุมประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ภายใน 3-5 ปี

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงเดินหน้าในการมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพของธุรกิจให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง เพื่อเป้าหมายในการเป็นผู้ประกอบการด้านธุรกิจพลังงานทดแทนอย่างครบวงจร สำหรับปีแรก (เริ่มเดือน ก.ค. 2562) ตั้งเป้าติดตั้ง 300 หลังคาเรือน มีรายได้ที่ 50-70 ล้านบาท จากนั้นตั้งเป้ารายได้ ปีละ 100 ล้านบาท

ด้าน เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนา โซลาร์ เอนเนอร์ยี่ กล่าวว่า ในปี 2561 ยังมีโครงการต่อเนื่องทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรม อาคาร โรงงาน สำนักงาน และโชว์รูมรถยนต์ โดยมีแบ็กล็อกโครงการไม่น้อยกว่า 50 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 20 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุน 600 ล้านบาท

สำหรับรูปแบบลงทุนจะมีหลักๆ 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.เจ้าของที่อยู่อาศัยลงทุนเอง ซึ่งแนวทางนี้หากเจ้าของบ้านเงินไม่พอ ทางสถาบันการเงินจะมีรูปแบบให้กู้ และ 2.ลงทุนแบบ ThirdParty (บุคคลที่สาม) โดยจะมีผู้เสนอการลงทุนให้โดยมีสัญญาเช่าหลังคาหรือทำสัญญาจะซื้อจะขายไฟฟ้า ซึ่งแนวทางดังกล่าวเชื่อว่ารูปแบบของการลงทุนจะเกิดการพัฒนาให้เห็นมากขึ้น เพราะตัวอย่างนี้ในต่างประเทศหลายแห่งเกิดขึ้นแล้ว ชี้ให้เห็นว่าโซลาร์รูฟท็อป เป็นเทรนด์โลกที่กำลังมา สำหรับในไทยกระแสการตื่นตัวได้เริ่มขึ้น แม้โซลาร์รูฟท็อปเสรีจะยังไม่เกิดขึ้นในตอนนี้ก็ตาม

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์