ห้าแยกลาดพร้าวเดือด

ห้าแยกลาดพร้าวเดือด

ทุนยักษ์ซุ่มซื้อที่ดินปักหมุดขึ้นมิกซ์ยูสรอบสถานีกลางบางซื่อ บีทีเอสกรุ๊ป ขายที่ดิน 2 แปลงใหญ่ ให้ซิโนไทยขึ้นอาคารสำนักงาน เซ็นทรัลทาบซื้ออีกแปลงกว่าหมื่นล้าน เอสซียึด 5 แยกลาดพร้าวขึ้นคอนโดฯหรู ปตท.โดดชิงที่รถไฟ แปลง เอ

ทำเลห้าแยกลาดพร้าวถูกยกให้เป็นศูนย์เศรษฐกิจแห่งใหม่ หรือ New CBD จากการไหลบ่าของกลุ่มทุนปักหมุดซื้อที่ดิน ขึ้นโครงการมิกซ์ยูส ตึกสูงคอนโดมิเนียม รองรับการเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อ ศูนย์กลางการเดินทางทางรางใหญ่ระดับอาเซียนภายในปี 2563 คาดหมายว่าจะมีคนเข้าใช้พื้นที่เปลี่ยนถ่ายการเดินทางมากที่สุดในประเทศ ล่าสุดบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่นฯ ร่วมทุนกับญี่ปุ่น ซื้อที่ดินหัวมุมห้าแยกลาดพร้าวฝั่งพหลโยธิน เยื้องกับห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว ติดกับยูเนี่ยนมอลล์เกือบ 2 ไร่ขึ้นโครงการคอนโดมิเนียมหรู ราคาขายต่อตารางเมตรอยู่ที่ 1.7-2 แสนบาทต่อตารางเมตร หรือเฉลี่ยราคาขายต่อหน่วย 7 ล้านบาท หลังค่ายพฤกษา แสนสิริ ขึ้นโครงการไปก่อนหน้านี้ ทำเลห้าแยกลาดพร้าวฝั่งวิภาวดีฯ เรียกว่าราคาที่ดินร้อนระอุขยับไปกว่า 1 ล้านบาทต่อตารางวาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ขณะขุมทรัพย์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ดินกว่า 2,000 ไร่ เริ่มทยอยนำที่ดินที่มีความพร้อมเปิดให้เอกชนที่สนใจประมูล ซึ่งหนึ่งในนั้นมีบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าสนใจที่ดินแปลงดี บีทีเอสกรุ๊ป มองทำเลทองกม.11 และมีเอี่ยว ร่วมลงทุนกับปตท. ส่วนที่ดินแปลง เอ ของสถานีกลางบางซื่อ ขนาดพื้นที่ 35 ไร่มูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมาพบว่านักลงทุนรายใหญ่ซื้อซองประมูล มีทั้งกลุ่มเซ็นทรัล, ช.การช่าง และ บีอีเอ็ม และกว่าจะปิดการขายซองวันที่ 7 พฤษภาคม คาดว่าจะมีกลุ่มทุนอีกไม่น้อยกระโจนร่วมวงชิงพื้นที่

ขณะเดียวกันที่ดินแปลงพหลโยธินตรงข้ามแดนเนรมิต 46 ไร่ กลุ่มเซ็นทรัลเจรจาซื้อยกแปลง มูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนารูปแบบมิกซ์ยูส เนื่องจากเป็นที่ดินผืนใหญ่เชื่อมทั้งฝั่งวิภาวดีฯและพหลโยธิน มีส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ ฝั่งวิภาวดีฯมีสายสีแดง รวมถึงการตัดถนนผ่านแปลงที่ดินเชื่อมระหว่างถนนพหลโยธินกับวิภาวดีฯ อย่างไรก็ตาม ที่ดินแปลงดังกล่าวก่อนหน้านี้กลุ่มบีทีเอสกรุ๊ปถือหุ้น ร่วมกับกลุ่มจีแลนด์ สัดส่วน 50:50 โดยซื้อมามูลค่า 7,000 ล้านบาท เมื่อกลุ่มเซ็นทรัลซื้อจีแลนด์ ทำให้เซ็นทรัลสนใจซื้อดังกล่าว

สำหรับการยื่นประมูลพื้นที่โซน เอ พื้นที่จะใหญ่หรือเล็กนั้น จะต้องดูถึงการพัฒนาโครงการสมาร์ทซิตี้การเพิ่มประสิทธิภาพเป็นหลัก นอกจากนี้ ปตท.ยังสนใจพัฒนาในโซนอื่นเพิ่มเติม เพื่อครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าวด้วย

แหล่งข่าวระดับสูงจาก รฟท. ระบุว่า การขายซองประมูลคาดว่าจะได้รับความสนใจจากอีกหลายบริษัท เนื่องจากยังมีระยะเวลาอีกหลายวัน ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงตรงกับวันหยุดเทศกาลสงกรานต์จึงมีน้อยรายเข้ามาซื้อซอง คาดว่าระยะเวลาที่เหลือจะได้รับความสนใจจากกลุ่มลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยจะมีการเปิดขายซองไปจนถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 นี้

สำหรับความคืบหน้าการเปิดประมูลแปลงต่อๆไป มี แปลง บี เป็นจุดพวงรางใกล้ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง พื้นที่ 78 ไร่ แปลง ซี ช่วงสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (หมอชิตใหม่) พื้นที่ 105 ไร่ แปลง ซี พื้นที่ 87.5 ไร่ ใกล้จุดขึ้นทางด่วน และแปลง อี ช่วงตึกแดงบางซื่อขนาดพื้นที่ 120 ไร่นั้น พบว่าแปลง บี-ซี-ดี สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้ส่งข้อมูลที่นำไปศึกษาเรื่องการร่วมลงทุนตามพ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2556 และ 2562 ตามนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐคืนให้รฟท.เพื่อนำเสนอรัฐบาลชุดใหม่เร่งผลักดันต่อไป ส่วนแปลง กม.11 ยังไม่ได้มีการเห็นชอบผลการศึกษาจากรฟท. จะเสนออนุกรรมการด้านทรัพย์สินในวันที่ 25 เมษายนนี้ ก่อนเสนอ บอร์ดรฟท.เห็นชอบต่อไป

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

24 เมษายน 2562