นับถอยหลังเส้นตายไฮสปีด 12 พันธมิตร ซี.พี.สู้ไม่ถอย

นับถอยหลังเส้นตายไฮสปีด 12 พันธมิตร ซี.พี.สู้ไม่ถอย

ปล่อยให้ลุ้นตัวโก่งอยู่นานสองนาน ในที่สุดก็เป็นที่แน่ชัด “กลุ่ม ซี.พี.และพันธมิตร” มีบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ของ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เป็นแกนนำด้วยสัดส่วน 70% จะไม่ปล่อยมือจากโปรเจ็กต์รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา มูลค่า 224,544 ล้านบาท ที่ปล่อยให้เวลาล่วงเลยมากว่า 2 เดือน เนื่องจากยื่นข้อเสนอพิเศษหวังปิดจุดเสี่ยงโครงการ เพราะแม้ว่ารัฐจะสนับสนุนเงินลงทุนให้จำนวน 117,227 ล้านบาทตามที่เสนอไป แลกกับสัมปทานที่รัฐยื่นให้ 50 ปี แต่ยังไม่เพียงพอต่อการลงทุนโครงการไฮสปีดเทรนซึ่งใช้เวลาคืนทุนนานนับ 10 ปี ที่ประเทศไทยยังไม่เคยมีการดึงเอกชนร่วมทุนด้วยเงินก้อนใหญ่ขนาดนี้มาก่อน

ปัจจุบันการเจรจาได้ข้อยุติจากคณะกรรมการคัดเลือกโครงการมี “วรวุฒิ มาลา” รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นประธานปิดประตูทุกบานไม่รับ 12 ข้อเสนอด้านการเงินของกลุ่ม ซี.พี. ขณะที่กลุ่ม ซี.พี.ขอขยายเวลาจากเดิมวันที่ 5 มี.ค.เป็น 19 มี.ค. เนื่องจากต้องรอคำตอบจากพันธมิตรต่างชาติหลายรายอาจจะต้องใช้เวลา จากเดดล็อกทำให้เป็นที่จับตาท่าทีของ “กลุ่ม ซี.พี.” หลังเจียระไนร่วมกับพันธมิตรแล้ว จะยอมถอนข้อเสนอพิสดารตามมติของคณะกรรมการคัดเลือกหรือจะมีข้อเสนอใหม่ที่เพิ่มเข้ามาอีกวันที่ 19 มี.ค.นี้

ความเคลื่อนไหวล่าสุด “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม ซี.พี.) กล่าวว่า ที่ขอเลื่อนวันเจรจากับคณะกรรมการคัดเลือกรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินออกไปไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดและเหตุผลของการขอเลื่อนได้ เนื่องจากจะขัดกับทีโออาร์ที่ไม่ให้เปิดเผยรายละเอียดจนกว่าการเจราจาจะแล้วเสร็จ

ด้านแหล่งข่าวจาก บมจ.ช.การช่างและ บมจ.อิตาเลียนไทยฯกล่าวว่า ยังไม่ถอนตัวจากการประมูล แต่การตัดสินใจต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับ ซี.พี.เป็นหลัก พลิกดู 12 พันธมิตรที่ “ซี.พี.” จะต้องกล่อม มีทั้งระดับแถวหน้าของประเทศไทยและระดับโลก แต่ร่วมหุ้นออกหน้ามี 4 ราย ได้แก่ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 5% บจ.ไชน่า คอนสตรักชั่น คอร์ปอเรชั่น จากประเทศจีน 10% บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM 15% ที่เหลือมี JOIN หรือองค์กรความร่วมมือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการพัฒนาเมืองในต่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น, บจ.ซิติกกรุ๊ป จากประเทศจีน

บจ.ไชน่า รีเสิร์ช (โฮลดิ้งส์) จากประเทศจีน, บจ.ซีเมนส์ จากประเทศเยอรมนี, บจ.ฮุนได จากประเทศเกาหลี, บจ.Ferrovie dello Stato Italiane (FS) จากประเทศอิตาลี, บจ.CRRC-Sifang จากประเทศจีน และธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ JBIC ประเทศญี่ปุ่น

เมื่อโปรเจ็กต์เป็นเมกะดีลระดับโลก จึงต้องใช้เวลาถกกันนานหน่อยกว่าจะลงตัว เพราะสิ่งที่คิดไม่ได้อย่างที่ต้องการ

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

15 มีนาคม 2562