ชิงเดือด รามคำแหง

ชิงเดือด รามคำแหง

ทำเลรามคำแหงร้อนฉ่า บิ๊กเนมไทยวิ่งสู้ฟัด ชิงลูกค้าคอนโดมิเนียมหืดจับ หลังทุนยักษ์ฮ่องกง ไรส์แลนด์ ประกาศปักหมุดคอนโดมิเนียม 2,600 หน่วยสถานีอินเตอร์เชนจ์ ลำสาลี ขณะเสนา ระบุ "เรดโอเชียน" ศุภาลัย ไร้ปัญหาขายแล้ว 1,500 หน่วย

นอกจากสุขุมวิท-รัชดาฯแล้ว จีนยังหันมานิยมคอนโดมิเนียมแนวรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ โดยเฉพาะรามคำแหง โซนตะวันออกกรุงเทพมหานคร หลังทุนยักษ์ฮ่องกง ไรส์แลนด์ ประเทศไทย ประกาศเปิดตัวคอนโดมิเนียม ติดสถานีอินเตอร์เชนจ์ สำสาลี ของรถไฟฟ้าสายสีส้มและสีเหลืองมากถึง 2,600 หน่วยใน ปี 2562 พร้อมทั้งตอกย้ำอีกว่า นอกจากจะขายให้ลูกค้าชาติเดียวกันแล้วยังเน้นขายลูกค้าคนไทยอีกด้วย ประเมินได้ว่าทำเลนี้ "ร้อนฉ่า" แน่

นายศรายุธ เล็กผลิผล หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เพื่อพาณิชยกรรม บริษัทไรส์แลนด์ (ประเทศไทย) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าทำเลรามคำแหงแนวรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันอออก มีศักยภาพสูง อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับโครงการ อาร์ติซาน รัชดา สมาร์ทไลฟ์  ทำเลรัชดาฯ ไชน่าทาวน์ 2 ทั้งนี้โครงการรามคำแหง จะอยู่ไม่ห่างจาก ศุภาลัย และพฤกษา โดยค่อนไปทางสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า มูลค่าลงทุน 10,000 ล้านบาท

ขณะมุมมองดีเวลอปเปอร์ไทย นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศุภาลัย สะท้อนว่า คอนโดมิเนียมของศุภาลัย เหลือเฟสที่จะเปิดขายเพื่อปรับราคาใหม่จำนวนไม่มาก คาดว่าจะปิดโครงการได้ทั้งหมดปีหน้า ส่วนปัจจุบันขายแล้ว 75% หรือ 1,500 หน่วย จากทั้งหมด 2,000 หน่วยเศษๆ แสดงให้เห็นว่าลูกค้าให้ความสนใจ เนื่องจากราคาไม่แพงเพียง 1 ล้านบาทปลายๆ อีกทั้งเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งแหล่งช็อปปิ้งในโครงการและความปลอดภัย ส่วนทำเลนอกจากติดสถานีรถไฟฟ้าหัวหมากแล้ว ยังเข้าออกได้ 2 เส้นทาง รองรับกลุ่มลูกค้าสถาบันการศึกษา ทั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง และเอแบค

สำหรับค่ายใหม่ที่เข้ามาทั้งไทยหรือว่าทุนฮ่องกง ประเมินว่า สามารถพัฒนาได้ไม่ปิดกั้น แต่สำหรับศุภาลัยแล้วไม่กระทบ เพราะเมื่อถึงเวลานั้นโครงการน่าจะปิดการขายไปก่อนแล้ว

ขณะนางสาวเกษราธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการบริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) สะท้อนว่า ทำเลรามคำแหงแนวรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) แข่งขันรุนแรงหรือเรียกว่า "เรดโอเชียน" เนื่องจากมีซัพพลายมากกว่าความต้องการ แต่ละค่ายขึ้นโครงการเพราะต้องการขยายทำเลใหม่ กลับกันหากบริษัทไม่เข้าสู่สนามนี้เกรงว่าจะเสียโอกาส

ทั้งนี้ จากข้อมูลฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่าจากข้อมูลพบว่าคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการขายย่านรามคำแหงส่วนใหญ่ อยู่ในระดับราคา 3-5 ล้านบาทต่อหน่วยมากที่สุด จำนวน 1,194 หน่วย รองลงมาคือระดับราคา 2.5-3 ล้านบาท ประมาณ 1,033 หน่วย และระดับราคา 2.25-2.55 ล้านบาทต่อหน่วย ประมาณ 762 หน่วย

อย่างไรก็ดี ช่วงระดับราคา 2.25-2.5 ล้านบาทต่อหน่วย เป็นราคาที่ขายดีที่สุด รองลงมา คือระดับราคา 2.5-3 ล้านบาทต่อหน่วยเป็นต้น

สำหรับรามคำแหงยังเป็นที่ทำเลที่ราคาขายของคอนโดมิเนียมมีการปรับขึ้นมากถึง 80% จากราคาขายเฉลี่ยต่อตารางเมตรที่อยู่ประมาณ 50,000 บาทต่อตารางเมตร ปัจจุบันราคาขายเฉลี่ยของคอนโดมิเนียมในย่านรามคำแหงจะอยู่ที่ประมาณ 90,000 บาทต่อตารางเมตร สำหรับราคาที่ดินในย่านรามคำแหงหลังจากที่รถไฟฟ้าเริ่มสร้างตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาก็มีการปรับขึ้นราคาเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันราคาขายของที่ดินย่านรามคำแหงติดถนนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 250,000-300,000 บาทต่อตารางวา และที่ดินในซอยจะอยู่ที่ประมาณ 120,000-160,000 บาทต่อตารางวา

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

12 ธันวาคม 2561