เชียงใหม่ปั้น ย่านนิมมาน ขึ้นสมาร์ทซิตี้

เชียงใหม่ปั้น ย่านนิมมาน ขึ้นสมาร์ทซิตี้

"ผู้ว่าฯเชียงใหม่" เร่งเครื่องย่านถนน "นิมมานฯ" ดีไซน์เมืองอัจฉริยะขึ้นแท่น "สมาร์ทซิตี้" นำร่องพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานให้เป็นเมืองน่าเดิน-น่าอยู่-น่าเที่ยว นำเสาไฟลงใต้ดิน ออกแบบทางเท้าใหม่ ปรับโฉมภูมิทัศน์ในรูปแบบ street furniture เผยผลการทดสอบออกแบบย่านนิมมานฯ คาดมูลค่าเศรษฐกิจพุ่ง 2.4 หมื่นล้านบาทภายใน 20 ปี

ทั้งนี้ ในส่วนความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีความคืบหน้าในการทำแอปพลิเคชั่น (smart application) เพื่อตอบโจทย์ให้กับประชาชนและ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในย่านถนนนิมมานฯ ซึ่งมีปัญหาการจราจรและจุดจอดรถ ซึ่งแอปพลิเคชั่นดังกล่าว จะทำให้รู้ว่ามีพื้นที่จอดรถตรงไหนว่างและจอดได้ โดยดูแอปพลิเคชั่นบนมือถือ ขณะนี้เตรียมนำเสนอต่อผู้ว่าฯและคณะทำงาน เพื่อพิจารณาและรวบรวมข้อมูลที่จะนำเข้ามาใส่ไว้ในระบบ

ทั้งนี้ โครงการ "การศึกษากลไกเชิงพื้นที่โดยการวางแผนและการออกแบบเมืองอย่างชาญฉลาด เพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจและสังคม (SG-ABC) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งตนเป็นหัวหน้าคณะนักวิจัย ได้กำหนดพื้นที่ถนนนิมมานเหมินท์และถนนห้วยแก้วเป็นโมเดลในการพัฒนาให้เป็นศูนย์เศรษฐกิจ-ย่านนวัตกรรมของจังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นโครงการ ที่มีความสอดคล้องและสามารถเชื่อมโยง กับโครงการสมาร์ท นิมมาน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ได้มีการประชุมปฏิบัติการ Community Planning Assistances Team-CPAT เชียงใหม่ ทดสอบการออกแบบเมืองอัจฉริยะตามเกณฑ์ SG & LEED-ND โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ภาคประชาชนเข้าร่วมประชุม ระดมแนวคิดทดสอบออกแบบย่านนิมมานฯ-ห้วยแก้ว โดยการคาดการณ์มูลค่าเศรษฐกิจของย่านศูนย์เศรษฐกิจนิมมานฯ-ถนนห้วยแก้ว ในช่วง 20 ปี จะมีมูลค่าประมาณ 24,000 ล้านบาท ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่กำหนดให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (smart city)

คณะผู้วิจัยโครงการ SG-ABC สกว.นำมาจากผลลัพธ์ของแบบจำลอง LEED-ND Economic & Land Use Model ที่ใช้ฐานประมาณการจากจำแนกที่ดินตามเกณฑ์ transect codes ออกเป็น 3 โซน ได้แก่ โซนใจกลางเมือง (urban core) มีรัศมีประมาณ 400 เมตร โซนนี้มีความเข้มข้นของกิจการโรงแรม ร้านอาหาร สำนักงาน และค้าปลีก โซนที่สอง เป็นย่านพาณิชยกรรมเมือง (urban center) รัศมีต่อจากโซนแรก 400 เมตร มีความเข้มข้นกิจกรรมการค้าปลีก สำนักงาน และที่อยู่อาศัย ส่วนโซนที่สาม เป็นย่านที่อยู่อาศัยผสมผสานพาณิชยกรรม (general urban) มีความเข้มข้นด้านที่อยู่อาศัย โดยใช้ราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์และราคาตั้งค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน ค้าปลีก ค่าเช่าที่อยู่อาศัย ค่าเฉลี่ยค่าที่พักโรงแรม และอื่น ๆ เป็น ฐานประมาณการ โดยให้ค่า FAR (floor area ratio) ตั้งแต่ระดับ 1.5 เท่าถึง 10 เท่า เป็นอัตราเปรียบเทียบ

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

19 พฤศจิกายน 2561