กู้ซื้อบ้านแนวราบป่วน

กู้ซื้อบ้านแนวราบป่วน

แบงก์ชาติคลอดเกณฑ์คุมสินเชื่อใหม่ แบ็กล็อก 4 แสนล้าน คอนโดฯ 8 หมื่นหน่วยรอดตาย พร้อมยืดเร่งขาย-เร่งโอนต่อ ด้านแนวราบ จุก ได้สินเชื่อลดลง ทันทีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคลอดเกณฑ์สินเชื่อใหม่ พร้อมทั้งขยายเวลาบังคับใช้ ออกไปอีก 3 เดือน จากเดิมต้องประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม 2562

นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากหลักเกณฑ์แบงก์ชาติที่ปรับใหม่ ส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมที่อยู่อาศัย ในภาพรวม เนื่องจากเว้นโครงการที่ขายแล้วและรอโอน (แบ็กล็อก) เฉพาะคอนโดมิเนียม 8 หมื่นหน่วย มูลค่า 4 แสนล้าน บาท โดยออริจิ้นมียอดรอโอน 3.5 หมื่นล้านบาท กว่า 7,000 หน่วย ที่ไม่ต้องวิตกว่าลูกค้าจะทิ้งดาวน์และเมื่อรวมมูลค่าอสังหาฯทั้งแนวราบและแนวสูง จะมีมูลค่า 7-8 แสนล้านบาทต่อปีถือว่าสูง หากแบงก์ชาติไม่ผ่อนเกณฑ์ เชื่อว่าจะเกิดผลเสียต่ออุตสาหกรรมนี้อย่างแน่นอน

ส่วนการขยายเวลาประกาศใช้ออกไปอีก 3 เดือน มองว่าเป็นนาทีทองของคนซื้อบ้าน ขณะผู้ประกอบการมีเวลาปิดการขาย ส่วนแนวราบ ภาพรวมอาจกระทบในแง่เคยได้วงเงินสินเชื่อมากกว่าคอนโดมิเนียมแต่เกณฑ์ใหม่ จะได้วงเงินกู้พอๆกัน

นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ชลบุรี ระบุว่า ผู้ประกอบการทุกรายเห็นด้วยกับ การผ่อนคลายเกณฑ์แบงก์ชาติ เป็นบวกต่อผู้บริโภคที่ซื้อบ้านไปก่อนหน้านี้ ไม่ต้องควักกระเป๋าเพิ่ม แต่กลับกันเห็นด้วยกับกรณีแบงก์ชาติออกมาตรการมาช่วยกรองไม่ให้ เกิดฟองสบู่และหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ระยะยาว โดยเฉพาะการให้สินเชื่อวงเงินเกิน 100% สุ่มเสี่ยงเป็นช่องทางหาประโยชน์ในทางที่ผิดโดยเฉพาะ สินเชื่อเงินทอน

แหล่งข่าววงการอสังหาริม ทรัพย์รายหนึ่งให้ความเห็นต่อมาตรการคุมเข้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ที่เพิ่งประกาศล่าสุดว่า ถึงแม้ ธปท.พยายามจะสกัดกั้นดีมานด์เทียมหรือการซื้อเพื่อการลงทุนและการเก็งกำไร แต่ก็อาจจะมีผู้ประกอบการบางรายโดยเฉพาะรายเล็กที่ต้องการระบายสต๊อก ก็อาจจะยอมช่วยลูกค้าเรื่องสัญญา เพื่อช่วยให้ลูกค้าไม่ต้องวางดาวน์มากถึง 10%  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ประกอบการก็ต้องมั่นใจในศักยภาพของลูกค้ารายดังกล่าวว่ามีศักยภาพ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับรายใหญ่ได้ ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่เช่น บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ปรับวางดาวน์เป็น 20%

การให้สินเชื่อวงเงินเกิน 100% สุ่มเสี่ยงเป็นช่องทางหาประโยชน์ในทางที่ผิดโดยเฉพาะ สินเชื่อเงินทอน

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

15 พฤศจิกายน 2561