ซีพี-อิตาเลียนไทย ชิงไฮสปีด ผนึกกำลังสู้เจ้าพ่อบีทีเอสยื่นซอง12พ.ย.

ซีพี-อิตาเลียนไทย ชิงไฮสปีด ผนึกกำลังสู้เจ้าพ่อบีทีเอสยื่นซอง12พ.ย.

12 พ.ย.ยื่นซองประมูลไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ชิงเค้ก 2.24 แสนล้าน คาด "ซี.พี." ผนึกยักษ์เอเชีย ยุโรป บิ๊กรับเหมา "อิตาเลียนไทย-ช.การช่าง" คว้าชิ้น ปลามัน เจ้าพ่อบีทีเอส "คีรี" แท็กทีม "ซิโน-ไทยฯ-ราชบุรีโฮลดิ้ง" ซื้อโนว์ฮาวยุโรปสู้

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ได้ตอบข้อซักถาม เอกชนที่ซื้อซองประมูลโครงการรถไฟ ความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 2.24 แสนล้านบาท และจะให้ยื่นซองวันที่ 12 พ.ย.นี้ ที่มักกะสัน คาดว่าจะมี 2 เอกชนยื่นและประกาศผู้ชนะได้ในเดือน ม.ค. เซ็นสัญญาเดือน ก.พ. 2562 ใช้เวลา สร้าง 5 ปี เสร็จปี 2567 ได้สัมปทาน 45 ปี บริหารโครงการพร้อมสิทธิพัฒนาที่ดินมักกะสัน 150 ไร่ และศรีราชา 25 ไร่

แหล่งข่าวจากวงการรับเหมาก่อสร้าง กล่าวว่า การยื่นซองประมูลรถไฟความ เร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แนวโน้มมี 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่ม ซี.พี.จะร่วมกับบริษัท ทางรถไฟแห่งชาติฝรั่งเศส (SNCF) และ บริษัท ทรานส์เดฟ กรุ๊ป จากฝรั่งเศส บริษัท ทางรถไฟแห่งชาติอิตาลี (FS) จัดหาระบบและบริหารโครงการ ส่วนก่อสร้าง วางราง และพัฒนาเชิงพาณิชย์ ร่วมกับบริษัทจีน อาทิ บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (CRCC), บจ.ไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป, บจ.ซิติก กรุ๊ป, บจ.ไชน่า สเตท ฯ รวมถึงอิโตชูจากญี่ปุ่น ด้านผู้รับเหมาไทย เช่น อิตาเลียนไทยฯช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) 2.กลุ่มบีทีเอสร่วม บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งฯและ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง และอาจจะมีกลุ่ม 3 คือ ยูนิคฯ กับประเทศเกาหลี

แหล่งข่าวจาก บมจ.อิตาเลียนไทยฯกล่าวว่า จะร่วมกับ ซี.พี.ยื่นประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดย บริษัทจะเข้าร่วมแบบเบ็ดเสร็จรูปแบบ EPC คือ ออกแบบด้านวิศวกรรม (engineering) จัดซื้อจัดหา (procurement) และก่อสร้าง (construction)

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า บีทีเอสพร้อมจะเข้าร่วมประมูล จะร่วมกับพันธมิตรเดิมในนามกลุ่ม BSR ทั้ง 3 บริษัทมีศักยภาพพร้อมที่จะลงทุนไม่จำเป็นต้องหาพันมิตรเพิ่ม ที่ผ่านมาบริษัทได้ทุ่มเทศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้ ผลที่ออกมาก็มีความเป็นไปได้ที่จะลงทุน แต่ต้องมีรายได้เชิงพาณิชย์เข้ามาเสริมด้วย

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหารและกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์กล่าวว่า ซึ่งบีทีเอสจะถือหุ้น ไม่น้อยกว่า 60% ที่เหลือซิโน-ไทยฯ และ ราชบุรีโฮลดิ้งกำลังพิจารณาสัดส่วน ด้านการจัดหาระบบ มียื่นเสนอมาหลายบริษัททั้งเอเชียและยุโรป

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคม อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า วันที่ 9-21 พ.ย. นี้ จะเปิดขายซอง TOR โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 หลังจากขายซองแล้ว จะเปิดให้ภาคเอกชนที่ซื้อซองเข้ารับฟัง เงื่อนไขรายละเอียด TOR ในวันที่ 27-28 พ.ย. นี้ และจะพิจารณาคัดเลือกบริษัท เอกชนที่ชนะการประมูล คาดว่าจะได้ผลในช่วงเดือน ก.พ. 2562

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

8 พฤศจิกายน 2561