โฮมดอทเทค เครื่องมือการตลาดบ้านยุคดิจิทัล

โฮมดอทเทค เครื่องมือการตลาดบ้านยุคดิจิทัล

เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน สิ่งที่ธุรกิจต้องปรับตัวตามให้ทันนั่นคือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการเข้าถึงและตอบสนองความต้องการนั้นๆให้ตรงจุด

จากงานสัมมนา "Home Digital Buyers" จัดโดย โฮมบายเออร์ไกด์ สะท้อนให้เห็นว่าพฤติกรรมและการตัดสินใจซื้อบ้านของคนในยุคนี้ได้เปลี่ยนไปแล้วจริงๆ " 25 ปี โฮมบายเออร์ไกด์ เราเกี่ยวข้องอสังหาฯ มานาน มีจำนวนโครงการมาก หลายร้อยโครงการและจำนวนคนเข้าดูในเว็บไซต์ home.co.th เป็นจำนวนมาก รวมถึงคลิปวิดีโอการเยี่ยมชมโครงการ และงานมหกรรมฯ ที่จัดขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดข้อมูลเป็นจำนวนมาก เฉพาะเว็บไซต์ก็เดือนเป็นล้านราย แต่ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ทำให้บิซิเนสโมเดลจากธุรกิจเริ่มปรับตัวสู่ดาต้า โดยได้ร่วมกับจุฬาฯ ในการวิจัยและพัฒนาข้อมูลธุรกิจอสังหาฯ" บริสุทธิ์ กาสินพิลา กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท โฮมบายเออร์ไกด์ จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท โฮมดอทเทค จำกัด กล่าว

การศึกษาและวิจัยมุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมผู้บริโภค โดยการสร้างเครื่องมือและดาต้า สำหรับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ โดยเครื่องมือที่พัฒนาขึ้น ได้แก่ Home Event ,HomeHop

"Home Event" แอพพลิเคชั่น ที่เปิดให้ดาวน์โหลดฟรีสำหรับผู้เข้าชมงาน เปิดให้ดาวน์โหลดครั้งแรกในปีนี้ ฟีเจอร์หลักๆ ก็ได้แก่ การสแกนคิวอาร์โค้ดสำหรับการเริ่มต้น จากนั้นทำการค้นหาที่ตั้งบูธและโครงการต่างๆ ที่สนใจ รวมถึงการสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อจัดเก็บโปรโมชั่นของโครงการที่สนใจเอาไว้ในเครื่องพร้อมข้อมูลโครงการ อีกหนึ่งการทำงานของฟีเจอร์นี้ เป็นเรื่องของการเปิดให้พูดคุยกับเจ้าของ โครงการผ่านแอพพลิเคชั่น เรียกว่าเป็นส่วนของตัวช่วยจัดการ งานอีเวนท์สำหรับให้ทั้งผู้เข้าชมงาน และผู้ประกอบการที่มาออกบูธ ส่วนของผู้เดินงานสามารถใช้แอพพลิเคชั่นค้นหาโครงการที่สนใจโปรโมชั่น ขณะที่ผู้ประกอบการจะทราบได้ว่า "ใคร" บ้าง ที่มีโอกาสเป็นลูกค้า รวมทั้งมีเครื่องมือตรวจเช็ค เพื่อติดตามภาพรวมของงานอีเวนท์นั้นๆ ได้ในแบบเรียลไทม์

"Home hop" ณัฐภัทร บุญประคอง นักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์โฮมดอทเทค บอกที่ผ่านมา หลายคนแก้ปัญหาจากการเดินทางด้วยการซื้อบ้านใหม่ใกล้ๆกับแหล่งงาน ซึ่งแอพพลิเคชั่นนี้ก็ได้พัฒนาขึ้น สำหรับผู้ใช้ที่ต้องการหาบ้านเพื่ออยู่อาศัย ตามแผนการเดินทาง Travel Plan ฟีเจอร์สำหรับผู้ที่ต้องการจะซื้อบ้านได้เลือกแผนการเดินทางที่ใช่สำหรับตัวเอง โดยที่ในแต่ละแผนผู้ใช้ต้องระบุว่า เดินทางด้วยอะไร เรือ รถไฟฟ้า รถเมล์ รวมถึงเดินทางไปไหนบ้าง จากนั้น ระบบจะทำการหาบ้านที่เหมาะสมให้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเส้นทางต่างๆ เช่น สายสีเขียว สายสีเหลือง ชมพู เป็นต้น ที่ออกแบบมาเช่นนี้ ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นบอกเนื่องจากแต่ละคนมีไลฟ์สไตล์ที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ต้อง กำหนด persona ออกมาเป็นตัวแทนของแต่ละไลฟ์สไตล์ ทั้ง 6 แบบด้วยกัน

ช่วงแรกนี้ Home hop จะทำงานครอบคลุมเฉพาะกรุงเทพฯ จากนั้นเตรียมขยายให้ครอบคลุมเชียงใหม่และขอนแก่น โดยเชื่อว่า Home hop ในอนาคตเตรียมพัฒนาเพื่อตอบโจทย์คนซื้อบ้านเพื่อการลงทุนได้ด้วย

นอกจากนี้ยังมี Home Dashboard อีกแอพพลิเคชั่นที่ใช้สำหรับการวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของผู้หาซื้อที่อยู่อยู่อาศัยบนเว็บไซต์ ดร.พิภพ เทียนประภาสิทธิ์ Data scientist และผู้ร่วมก่อตั้งโฮมดอทเทค กล่าวถึงการทำงานของแอพว่า Home Dashboard จะทำหน้าที่เหมือนเป็นเครื่องมือวัดความนิยมของโครงการ เปรียบการทำงานคล้ายๆกับ google analytic ที่จะบอกถึงสถิติการเยี่ยมชม เว็บไซต์ เพื่อให้เห็นถึงพฤติกรรมการเข้าชม และนำไปสู่การวิเคราะห์ในอีกหลายๆเรื่อง ตัวอย่างเช่น ผู้บริโภคส่วนใหญ่เข้าชมจากมือถือมากถึง 71% ที่เหลือเข้าชมผ่านคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือ อายุเฉลี่ยของเยี่ยมชมมากที่สุดอยู่ในช่วงวัยใด

รศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญด้าน Data Science และ Machine Learning ในไทยขณะนี้ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการศึกษา ขณะที่ภาคธุรกิจจะมีข้อมูลเชิงลึกและมีประสบการณ์จริงจากภาคสนาม ความร่วมมือที่เกิดขึ้น จึงเป็นการทำงานร่วมกันในลักษณะของโครงการความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม (Industrial Liaison Program หรือ ILP) ภายใต้โครงการ Chula-Home Dot Tech โดยเป็นโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านอสังหาริมทรัพย์ หรือ Prop Tech ที่เน้นการนำเทคโนโลยี Data Science และ Machine Learning มาประยุกต์ใช้กับอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างเครื่องมือใหม่ๆออกมาใช้กับธุรกิจ

ผู้ร่วมวิจัยในโครงการนี้ ประกอบด้วย ผศ.ดร.โปรดปราน บุณยพุกกณะ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ เป็นหัวหน้าโครงการ, รศ.ดร.อติวงศ์ สุชาโต รองคณบดีด้านนวัตกรรม การเรียนรู้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ เป็นหัวหน้าทีมวิจัย, ดร.เอกพล ช่วงสุวนิช อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ เป็นผู้วิจัยหลัก และ ดร.นฤมล ประทานวณิช อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ เป็นผู้วิจัย

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

22 สิงหาคม 2561