ธอส. เปิดเกมให้มากกว่าแบงก์ ติดเทอร์โบ ดิจิทัลเซอร์วิสแบงกิ้ง

ธอส. เปิดเกมให้มากกว่าแบงก์ ติดเทอร์โบ ดิจิทัลเซอร์วิสแบงกิ้ง

แม้ ธอส.หรือธนาคารอาคารสงเคราะห์จะถูกจำกัดให้เป็นแบงก์เฉพาะกิจของรัฐที่มีภารกิจหลักในการทำให้คนไทยมีบ้าน โดย ธอส.สามารถรับฝากเงินและการปล่อยสินเชื่อบ้านเท่านั้น แต่ว่าในโลกดิจิทัลแบงกิ้งกลับทำให้ธนาคารแห่งนี้สามารถสยายปีกให้บริการทางการเงินได้มากขึ้นกว่านั้น

เส้นทางดิจิทัลเซอร์วิสแบงกิ้ง ถูกกรุยทางมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วางระบบต่าง ๆ เพื่อรองรับตามแผนยุทธศาสตร์ "Transformation to digital service" ที่เอ็มดีหนุ่ม "นายฉัตรชัย ศิริไล" กรรมการผู้จัดการ ธอส. ได้มุ่งมั่นทำมาอย่าง ต่อเนื่อง หลังจากเข้ามานั่งเบอร์หนึ่งใน ธอส. ในช่วงกว่า 2 ปีแล้ว

และวันนี้ "เขา" ได้ประกาศว่า จะเห็น ธอส.เดินเครื่อง "ดิจิทัลเซอร์วิสแบงกิ้ง" เต็มรูปแบบภายในครึ่งปีหลังนี้แน่นอน หลังจากที่ธนาคารได้นำดิจิทัลเทคโนโลยีมาปรับใช้ทุกส่วนของธุรกิจ การยกระดับการทำงานภายในองค์กรครอบคลุมถึงนวัตกรรมการเงินและช่องทางต่าง ๆ ของการให้บริการดิจิทัล เพื่อพลิกโฉมภาพเดิม ๆ ที่จะเห็นลูกค้ามายืนรอออเต็มหน้าเคาน์เตอร์เพื่อชำระค่าผ่อนงวดบ้านโดยเฉพาะช่วงสิ้นเดือนของทุกเดือนที่ล้นออกมา ซึ่งที่ผ่านมา โครงการ Payment Gateway ได้ทยอยออกมาให้บริการบ้างแล้ว

โดยปลายปี 2560 ที่ผ่านมา ธอส.นำเครื่องรับชำระหนี้อิเล็กทรอนิกส์ หรือ LRM มาให้บริการ "ชำระกี่บัญชี ก็นาทีเดียว" และภายในเดือนกรกฎาคม 2561 จะวางเครื่อง LRM เพิ่มขึ้นเป็น 170 เครื่องเพื่อลดปัญหาการกระจุกตัวในการชำระหนี้ช่วงสิ้นเดือน และที่สำคัญช่วยลดปริมาณการทำธุรกรรมหน้าเคาน์เตอร์ของ ธอส.ด้วย

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เพิ่งนำ QR Non Cash Payment หรือเครื่องชำระเงินกู้ไร้เงินสด มาให้บริการรับลูกสังคมไร้เงินสด (cashless society) ตามนโยบายรัฐบาล โดยลูกค้า ธอส.สามารถจ่ายหนี้เงินกู้ ธอส.ง่ายขึ้น เพราะเลือกใช้ โมบายแอปพลิเคชั่นของธนาคารใดก็ได้ ในการโอนเงินเพื่อจ่ายหนี้ ธอส. เพียงแค่ระบุเลขที่บัญชีเงินกู้และเลือกบัญชีของธนาคารนั้น ๆ จำนวนเงินที่ต้องการชำระผ่านเครื่องนี้ หลังจากนั้นเครื่องนี้จะสร้าง QR code เฉพาะการชำระหนี้เงินกู้ครั้งนั้น ๆ ด้านลูกค้าก็ไม่ต้องไปถอนเงินสดมาจ่าย ธอส.ให้ยุ่งยาก ขณะนี้ มีเครื่อง QR Non Cash Payment ให้บริการราว 20 เครื่อง โดยจะติดตั้ง ที่สาขา กทม.และปริมณฑลภายในเดือน ก.ค.นี้     

นอกจากนี้ยังได้จัดทำ "เครื่องรับฝากเงินประชารัฐ" หรือ Mobile Deposit Machine เป็นเครื่องรับฝากเงินให้บริการนอกสถานที่แก่ลูกค้ากลุ่มผู้มีรายได้น้อยตามชุมชนต่าง ๆ ด้วย เพื่อให้เข้าถึงบริการที่รวดเร็ว มั่นใจ และปลอดภัย สร้างวินัยการเงิน และเสริมความเข้มแข็งในการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อเพื่อการมีบ้านในอนาคตด้วย ซึ่งเริ่มให้บริการ 200 เครื่องภายในเดือน ก.ค.นี้เช่นกัน

อีกโปรเจ็กต์ใหม่ที่กำลังจะออกมาในไตรมาส 3/61 นี้ คือ โมบาย แอปพลิเคชั่น ชื่อว่า "GHB ALL" ที่รวมบริการทุกอย่างของ ธอส.ไว้ในมือถือ ซึ่งคนทั่วไปสามารถโหลดแอปนี้ไว้บนมือถือได้ ถึงจะไม่เป็นลูกค้า ธอส.ก็ใช้บริการได้ ซึ่งจะต่างจากแบงก์พาณิชย์อื่น ๆ เพราะแอปนี้ไม่ใช่มีแค่ ธอส. แต่จะมีการรวมขายทรัพย์ของแบงก์รัฐ อื่น ๆ มาใส่ในแอปนี้ด้วย

โดยในส่วนบริการของ ธอส. ใน แอปนี้จะมีทั้งสมัครยื่นขอสินเชื่อเข้ามา หลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไป ขณะเดียวกันผู้ยื่นสมัคร สามารถถ่ายรูปบ้านและเอกสารทางการเงิน แบงก์ สเตตเมนต์ โดยแบงก์จะมี GPS ในการประเมินหลักประกันให้ ตรวจสอบประวัติข้อมูลลูกค้า และนำเอกสารมาทำ KYC (พิสูจน์ตัวตน) ของผู้กู้ ซึ่งจะเป็นขั้นตอนที่สามารถทำได้ผ่าน แอปบนมือถือ

แอป GHB ALL จะให้บริการครบวงจรตั้งแต่จองคิว ติดต่อเจ้าหน้าที่ แจ้งความจำนงขอสินเชื่อ สอบถามสถานะการพิจารณาสินเชื่อ การแจ้งผลอนุมัติ การนัดทำนิติกรรม ชำระหนี้เงินกู้ โอนเงิน ใบเสร็จรับชำระหนี้ และแจ้งเตือนชำระหนี้เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แอปนี้จะพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ได้ภายในสิ้นปีนี้แน่นอน

ส่วนคำถามที่ว่า แล้ว ธอส.จะลดสาขาที่มีอยู่ 200 สาขาหรือไม่นั้น เขายืนยันว่า ธอส.ยังไม่มีนโยบายลดคนและลดสาขา แต่จะมีการปรับบางสาขาให้มีขนาดเล็กลง ส่วนพนักงานที่อยู่ในส่วนของเงินฝากก็จะย้ายเป็นอยู่ฝ่ายสินเชื่อ พร้อมกับบอกว่าปัจจุบันมีพนักงานอยู่ราว 5,000 คน ถือว่ากำลังดี และสาขา 220 สาขา อาจมีการขยายสาขาในบางพื้นที่ เช่น เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก ชายแดนภาคใต้ เช่น อ.เบตง จ.ยะลาด้วย

หลังจากนี้ จะเห็น ธอส.ยุค 4.0 ฟูลเวอร์ชั่น เปิดให้บริการลูกค้าที่ทำได้มากกว่าธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการ จำกัดเฉพาะลูกค้าแบงก์นั้น ๆ

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

6 สิงหาคม 2561